ไม้มะค่าไม้มงคล เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีสีออกเหลืองส้ม มีความสวยงามจึงนิยมนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่าง ๆ ทั้งยังใช้เพื่อการตกแต่งอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ให้สวยงาม ด้วยคุณสมบัตินี้มะค่าจึงเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และ ได้รับความนิยมในการเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะค่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ มะค่าโมง และ มะค่าแต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นมะค่าคือ Afzelia xylocarpa วงศ์ Leguminosae – Caesal Pinioideae(มะค่าโมง) และ Sindora siamensis วงศ์ Leguminosae(มะค่าแต้) โดยต้นมะค่าจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกของไม้มะค่ามีสีน้ำตาลอ่อน หรือ ออกชมพูอมน้ำตาล ก้านใบมีขนาดสั้นเรียงติดกัน ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ความยาวของใบจะอยู่ที่ประมาณ 4 – 9 เซนติเมตร และ ช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร และ กลีบดอกจะมี 4 กลีบ
มะค่าโมง และ มะค่าแต้
ถึงแม้ทั้งสองชนิดจะมีความคล้ายกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้ไม่ยาก ดังนี้
มะค่าโมง
มะค่าโมง ชื่ออื่นคือมะค่าใหญ่ มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ เขง เบง บิง ปิ้น ฟันฤๅษี แต้โหล่น พบได้ตามป่าดิบแล้ง หรือแนวเชื่อมระหว่างป่าเต็งรัง และ ป่าดิบแล้ง และ ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณที่มีความชื้น
ลักษณะของมะค่าโมงเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เส้นรอบวงลำต้นที่มีบันทึกว่าพบขนาด 13 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ ขณะที่กำลังผลิใบจะมีสีสันสวยงามมาก ส่วนลำต้นมีความแข็งแรง สวยงาม และ ยังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานเพื่อปลูกแก่จังหวัดสุโขทัย
ประโยชน์ของส่วนอื่น ๆ ของมะค่าโมง คือ เปลือกที่มีน้ำฝาดสามารถนำมาใช้ฟอกหนังได้ ส่วนฝักอ่อนก็สามารถนำเนื้อเมล็ดมาต้มรับประทานได้ ส่วนเมล็ดแก่สามารถเผาไฟ หรือ คั่วรับประทานได้ โดยเนื้อเมล็ดจะมีรสมัน
มะค่าแต้ ไม้มะค่าไม้มงคล
มะค่าแต้ ชื่ออื่นคือมะค่าหยุม มะค่าหนาม แต้ มะค่าลิง กอกก้อ กอเก๊าะ ก้าเกาะ กรอก๊อส และ แต้หนาม ถือเป็นไม้มงคลอีกชนิด เพราะเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานสำหรับจังหวัดสุรินทร์ โดยมะค่าแต้ถูกค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดราชบุรีจึงได้ชื่อสปีชีส์ว่า siamensis
สีของใบต่างจากมะค่าโมง แต่ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ส่วนฝัก เพราะจะมีหนามแหลมทั่วผิวฝัก ฝักมีขนาดเล็ก แบน ลำต้นเติบโตได้ดีกว่ามะค่าโมง ลักษณะเนื้อไม้จะหยาบกว่า มีน้ำหนักมากสามารถจมน้ำได้
สีของเนื้อไม้จะเป็นน้ำตาลอ่อนสลับเข้ม สามารถนำมาใช้งานหลากหลาย แต่แข็งแรงสู้มะค่าโมงไม่ได้ เพราะแผ่นบิด แตกง่าย ไม่ค่อยมีลาย จึงขาดความสวยงามแบบมะค่าโมง
มะค่าแต้มีสรรพคุณทางยาโดยเปลือกสามารถนำมาต้มเพื่อแก้ซาง แก้ลิ้นเป็นฝ้า ส่วนปุ่มที่เปลือกนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้พยาธิ ส่วนของเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาขับพยาธิ และ ช่วยให้ริดสีดวงแห้ง
ไม้มะค่าไม้มงคล ความเชื่อ
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นมะค่าแต้ที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่อดีตเป็นปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่กระจายพันธุ์มาจากภูมิภาคอินโดจีนจนมาถึงประเทศไทยอยู่ในแถบป่าเต็งรังซึ่งเป็นป่าที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ชนิดเป็นจำนวนมากทั้งนี้เขาเป็นต้นไม้มงคลประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่บ้านเรือน เพราะมีความเป็นสิริมงคล โดยผู้คนมีความเชื่อกันว่าเมื่อปลูกต้นมะค่าแต้แล้ว จะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ทั้งหน้าที่การงาน และ ชีวิตครอบครัวไม่มีอุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้นจึงกลายเป็นต้นไม้ที่ผู้คนให้ความเชื่อถือมาจนถึงปัจจุบัน
การเลี้ยงต้นมะค่า
แนะนำให้เริ่มปลูกด้วยต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 8 – 12 เดือน และ ให้ปลูกในต้นฤดูฝน เพราะต้นไม้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี รากของต้นไม้จะแข็งแรงสามารถตั้งตัวได้ง่าย ระยะห่างในการปลูกแต่ละต้นควรอยู่ที่ประมาณ 6 – 8 เมตร และ ในขณะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ควรใช้ฟางข้าว หรือ เศษใบไม้มาคลุมบริเวณโคนต้นเอาไว้ เพื่อช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น อัตราการเติบโตของต้นมะค่า เมื่อปลูกไปได้ 1 ปี จะมีความสูงประมาณ 2.5 เมตร โดยอายุของต้นมะค่าที่เหมาะกับการใช้งาน คือ ต้นที่มีอายุประมาณ 25 – 30 ปีขึ้นไป
ปัจจัยต่างๆในการเลี้ยงดูต้นมะค่า
- แสง เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัด จึงจะเจริญเติบโตได้ดี มีวงปีที่หนาขึ้นเกิดเป็นลายไม้ที่สวยงาม
- น้ำ เป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ แนะนำให้รดน้ำเพียง 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว หากต้นไม้มีความใหญ่พอประมาณไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะด้วยระบบรากที่ลึกจะทำให้พืชหาน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินได้เอง
- ดิน ควรปลูกในบริเวณดินที่มีความร่วนซุย เพราะจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ซึ่งความจริงสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่แต่อาจจะไม่ได้เจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าบริเวณที่ดินร่วนซุย
- ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยเมื่อปลูกลงดินครบ 2 เดือนขึ้นไป สามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมักก็ได้
ไม้มะค่าไม้มงคล การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งต้องได้จากฝักแก่ที่มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเอง ช่วงเวลาที่เหมาะกับเก็บเมล็ด คือ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม
เมื่อจะปลูกควรสับเปลือกเมล็ดตรงส่วนหัวเพื่อให้เห็นเนื้อด้านในเล็กน้อย เพราะจะช่วยเร่งให้งอกเร็วขึ้น จากนั้นให้นำไปแช่น้ำ 1 คืน ก่อนนำไปหว่านลงในแปลงเพาะชำที่เป็นดินปนทราย โดยหว่านเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 2-3 ซม. จากนั้นโรยทรายละเอียดกลบเมล็ด โดยให้มีความหนาประมาณ 0.5-1.00 ซม. จากนั้นให้น้ำวันละ 2 ครั้ง (เช้า – เย็น) ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน เมล็ดก็จะงอก ก็จะสามารถย้ายมาชำลงถุงพลาสติก จากนั้นนำกล้าไม้มาเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำที่พรางแสงลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 3 – 4 เดือน ก่อนทำการย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ
ข้อควรรู้
อย่างไรก็ดีข้อเสียของต้นมะค่า คือ เป็นต้นไม้ที่มีความสูงค่อนข้างมาก จึงไม่เหมาะสำหรับการจัดสวนตามอาคารบ้านเรือนเท่าใดนัก ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีพื้นที่กว้างเพียงพอ และ หากสงสัยว่าต้นไม้นี้โตเร็วไหม ในความเป็นจริงอัตราการโตของต้นมะค่าจะขึ้นกับปัจจัยในการเลี้ยงดู และ ฤดูกาล ซึ่งนอกจากจะส่งผลกับความสูงของต้นมะค่าแล้ว ยังส่งผลกับเส้นวงปีของต้นมะค่าอีกด้วย