การเลือกจุกนมทารก โดยทั่วไปการเลือกจุกนมจะมีหลักอยู่ 4 ข้อด้วยกัน คือ ขนาด ลักษณะของรู วิธีการดูแลทำความสะอาด และ สามารถใส่เข้ากับขวดนมที่ใช้อยู่ได้หรือไม่ ทั้งนี้ วิธีการเลือกเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับอายุของเด็กอีกด้วย ดังนั้น การจะเลือกซื้อรูปแบบไหนต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นอย่างมาก
สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำถึงในการเลือกจุกนม คือ การเลือกจุกนมให้มีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับนมแม่มากที่สุด เพราะบางครั้งคุณแม่อาจจะไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ตลอดเวลา หรือ ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อย และ เพื่อให้ลูกน้อยไม่รู้สึกแตกต่างมากนักเวลาดูดนมจากขวดนม ซึ่งการดูดนมจากอกแม่ ยังมีผลต่อการพูด การออกเสียงของลูกน้อยในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจในการเลือกจุกนมให้เหมาะกับช่วงวัย ซึ่งในบทความที่แล้วได้เขียนเกี่ยวกับ ขวดนม การเลือกซื้อให้ลูกน้อย
การเลือกจุกนมทารก แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- จุกนมยาง : จุกนมที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติ จะเป็นเหลืองอมน้ำตาล มีความนิ่มมากกว่าจุกนมซิลิโคน สามารถทนความร้อน 100 ˚C มีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน แต่หากผ่านความร้อนสูงบ่อยๆ อายุการใช้งานอาจเหลือไม่ถึง 1 เดือน
- จุกนมซิลิโคน : มักเป็นสีขาวใส มีความคงทน และ อายุการใช้งานมากกว่าจุกนมยาง สามารถทนความร้อนได้ถึง 120 ˚C มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ถ้ามีการดูแลอย่างถูกวิธี แต่อายุการใช้งานอาจลดลงเหลือ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน หากผ่านความร้อนสูงบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ เด็กแต่ละคนมีแรงในการดูดที่ต่างกัน คุณแม่จะต้องคอยสังเกต หากเมื่อไรที่ลูกดูดนมไปได้สักพักแล้วร้องงอแง หรือ หลับไปไม่นานก็ตื่นเพราะหิว นั่นอาจจะเป็นเพราะว่ารูของจุกนมมีขนาดเล็กเกินไป น้ำนมไหลได้น้อย คุณแม่ควรเปลี่ยนขนาดจุกนม หรือเจาะรูให้ใหญ่ขึ้นโดยใช้เข็มเย็บผ้าที่ฆ่าเชื้อโดยการใช้ไฟรน
การเลือกจุกนมทารก และ ขนาดจุกนม
เด็กแรกเกิดควรใช้ขนาด S หรือ SS เนื่องจากลูกน้อยจะดูดนมได้ช้า และ ปริมาณน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อในช่องปาก และ ระบบการกลืนยังไม่แข็งแรง ถ้ารูจุกนมกว้างเกินไป ก็อาจจะทำให้เด็กสำลักได้ และ เมื่อลูกน้อยโตขึ้น ดูดนมได้มากขึ้นก็ค่อยเปลี่ยนเป็นรูจุกนมขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งการใช้ขนาดรูจุกนมได้ตามอายุของเด็กดังนี้
- Size S เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด – 3 เดือน
- Size M เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 – 6 เดือน
- Size L เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
จุกนมพิเศษ : ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการดูดนมที่เหมาะสมของเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือ สำหรับเด็กที่มีแรงดูดน้อย ซึ่งขวดนมผลิตจากวัสดุพอลิโพรพิลีน มีลักษณะนิ่มกว่าพลาสติกทั่วไป รูปทรงง่ายต่อการบีบ ทนความร้อน 110 องศา ปลายจุกนมตัดเป็นรูปตัว Y ด้านที่มีรูอากาศจุกนมจะบางกว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อช่วยให้เด็กสามารถใช้ลิ้นและ ริมฝีปากดูดน้ำนมได้สะดวกยิ่งขึ้น จุกนมประเภทนี้จะมีด้วยกัน 2 ขนาด คือ ขนาดมาตรฐาน (R) และ ขนาดเล็ก (s) สามารถทนความร้อนได้ 120 องศา มีวาล์วระบายอากาศ และ วาล์วป้องกันการไหลย้อนกลับของของน้ำนม ขณะที่เด็กกำลังดูดนม
การเลือกจุกนมทารก เลือกใช้ขนาดจุกนมให้เหมาะสมกับลูก
- เด็กแรกเกิดที่อายุน้อยควรดื่มจากจุกนมขนาดเล็กที่สุดซึ่งนม หรือ น้ำจะไหลออกมาจากจุกได้ช้าที่สุด
- เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ควรเลือกใช้จุกนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และ จุกที่ทำให้นมไหลเร็วขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
- ในบางกรณี เด็กอาจดื่มจากจุกนมไม่สะดวกแม้เลือกใช้จุกนมตามวัยที่แนะนำ ซึ่งพ่อแม่ควรเปลี่ยนขนาดจุกนมใหม่ให้พอดีกับเด็ก จนกว่าเด็กจะสามารถใช้จุกนั้นดื่มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เฝ้าสังเกตอาการขณะที่เด็กดื่มจากจุกนม หากเด็กสำลักหรือคายนมออกมาแสดงว่าจุกนั้นทำให้นมไหลออกมาเร็วเกินไป และ ควรเปลี่ยนไปใช้จุกนมใหม่เช่นกัน
วิธีการทำความสะอาดจุกนม
เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับลูกรัก ควรใส่ใจทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้กับทารกรวมทั้งจุกนม โดยมีวิธีล้าง และ เก็บรักษาจุกนม ดังนี้
- หลังซื้อจุกนมมาใหม่ ๆ ให้ฆ่าเชื้อจุกนมโดยนำไปต้มทิ้งไว้ในหม้อประมาณ 5 นาที จากนั้นล้างจุกนมด้วยสบู่ และ น้ำอุ่นแล้วผึ่งทิ้งไว้ให้แห้ง
- หลังการใช้งานให้ล้างจุกนมด้วยสบู่และน้ำอุ่นทันที โดยใช้แปรงล้างจุกนมเพื่อให้สามารถทำความสะอาดในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก และ ต้องระมัดระวังไม่ใช้แปรงนี้ทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น
- หลังล้างจุกนมแล้ว ให้ผึ่งจุกนมจนแห้งสนิทก่อนนำไปใช้งานอีกครั้ง
- หากเป็นจุกนมชนิดที่สามารถล้างในเครื่องล้างจานได้ ให้วางจุกนมไว้ที่ชั้นบนสุดในเครื่องล้างจาน
- ห้ามใช้จุกนมที่มีสภาพบุบสลายหรือปลายจุกมีรอยแตก โดยทิ้งจุกนมนั้นทันทีหากพบปัญหาดังกล่าว
- เมื่อต้องนำจุกนมไปใช้งาน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับจุกนมและขวดนม
วิธีการสังเกตจุกนมเสื่อมคุณภาพ
- ปกติแล้วน้ำนมที่ไหลออกจากจุกนมจะต้องไหลออกมาเป็นหยด หากน้ำนมไหลออกมาเป็นสาย หรือ ไหลออกมาไม่สม่ำเสมอ ก็แสดงว่าจุกนมนั่นเริ่มเสื่อมคุณภาพแล้ว เพราะรูของจุกนมนั้นใหญ่เกินไป
- จุกนมเมื่อใช้ไปนานๆ ผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคบ่อย ตัวเนื้อยางจะบางลง และ เสียรูปทรง สามารถทดสอบได้โดยการดึงจุกนม ออกมาตรงๆ แล้วปล่อย ถ้าจุกนมหดกลับสู่สภาพเดิมก็แสดงว่าจุกนมยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ แต่ถ้าไม่กลับไปอยู่ในรูปเดิมก็แสดงว่า จุกนมนั่นเสื่อมสภาพ
- สังเกตจากลักษณะของจุกนม หากจุกนมบวม เนื้อยางบวมนิ่ม เวลาที่ลูกดูดจุกนมจะแบนจนน้ำนมไม่ไหล แสดงว่าจุกนมเสื่อมสภาพแล้ว
- หากจุกนมมียางแตกหรือขาด ต้องเลิกใช้ทันที เพราะอาจมีเศษยางหลุดปนเข้าไปในปากขณะที่ลูกดูดนม เศษยางอาจจะไปติดหลอดลม ทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้
ควรเปลี่ยนจุกนมตอนไหน
- ตอนที่เด็กเริ่มออกแรงมากในการดูดนม หรือสังเกตง่ายๆ ว่าเด็กจะออกแรงดูดจนแก้มบุ๋ม
- เมื่อลูกน้อยดูดนมไปได้สักพักแล้วร้องงอแง เสียงร้องนั่นก็อาจเป็นการบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าน้ำนมไหลไม่ทันใจลูกน้อย
- ลูกน้อยดูดนมไปเพียงนิดเดียวก็หอบเหนื่อย และ หลับไป โดยอีกไม่นานก็ตื่นอีกเพราะหิว หากมีสัญญาณจากลูกน้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปลี่ยนขนาดจุกนม เพื่อให้ปริมาณน้ำนมไหลปกติ เด็กก็จะอารมณ์ดีไม่ร้องบ่อย
- ควรเปลี่ยนจุกนมทุก 3 เดือน เพราะเด็กโตขึ้น และ ขนาดของจุกนมก็แบ่งตามอายุเด็กตามที่กล่าวมาข้างต้น
สรุป
การเลือกจุกนมให้กับทารกควรเลือกที่ลักษณะการใช้งานใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด เพราะเด็กทารกจะได้ไม่สับสน หรือ เลือกจุกนมดูด และ ไม่ติดเต้า หรือ ติดขวดนมมากเกินไป การเปลี่ยนจุกนมก็มีสามขนาด และควรเปลี่ยนทุกสามเดือน