พัฒนาการ ทารก 5 เดือน ซึ่งการเลี้ยงลูกในวัยเดือนที่ห้า มีพัฒนาการอะไรบ้าง พ่อแม่ต้องจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เลี้ยงลูก รับมือลูกอย่างไรในพัฒนาการเดือนที่ห้า ทาง IndyDiary.com ได้นำบทความจาก รักลูกมาให้อ่านกัน หากสนใจอ่านบทความ การพัฒนาของ เด็กทารกวัยสี่เดือน
เดือนที่5 เริ่มตั้งตนเป็นนักสำรวจที่สามารถใช้ร่างกายพลิกคว่ำและคืบได้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทันใจเจ้าหนูนัก คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยจัดท่าทางให้เจ้าหนูรวมทั้งช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการคืบคลานต่อไปด้วย
พัฒนาการ ทารก 5 เดือน ร่างกายและการส่งเสริม
แม้ว่าลูกจะยังคลานไม่ได้แต่ลูกน้อยวัย 5 เดือนจะชอบจะเรียนรู้ โลกภายนอกด้วยการสังเกตรอบๆ ตัว ด้วยการผงกศีรษะ ดันตัวขึ้นมามอง รวมทั้งหันคอมองตามได้อย่าง แข็งแรง เวลาจ้องมองสิ่งต่างๆ ลูกจะมองอย่างมีจุดหมายมากยิ่งขึ้น ต่างจากการมองอย่างลอยๆ เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตอนกลางวันที่ลูกจะเริ่มไม่ยอมนอนสักเท่าไร เหมือนอยากจะเล่นอย่างเดียว แต่ในตอนกลางคืนนั้นก็จะหลับยาวขึ้น และตื่นขึ้นประมาณ 2 ครั้งเท่านั้น พัฒนาการทางร่างกายของทารกวัย 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- นอนคว่ำ ยกศีรษะ ยันหน้าอกได้สูงขึ้น
- นอนคว่ำทำท่าร่อนบิน และ เหมือนกำลังจะคืบ
- นอนหงายยกศีรษะเท่าไหล่ได้
- ชอบยกนิ้วเท้าขึ้นมาดูดอม
- สามารถดึงเจ้าหนูยืนขึ้นได้ และชอบขย่มตัวด้วย
- นั่งพิงได้นาน 30 นาที หลังและศีรษะตั้งตรง
- นั่งจับคว้าของเล่นได้
- หยิบของด้วยนิ้วโป้ง และ นิ้วชี้ได้
- ถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
พัฒนาการ ทารก ห้า เดือน ทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม
เด็กวัย 5 เดือนกำลังจะพัฒนาการกล้ามเนื้อ และ การเคลื่อนไหวของเขาด้วยการคืบและคลาน ซึ่งทำให้บางครั้งเจ้าหนูหงุดหงุดใจ เพราะร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ไม่เร็วเท่าใจเขาคิด คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกออกกำลังกล้ามเนื้อหรือจัดท่าทางให้ถูกต้องและเหมาะสมในการคลานต่อไป
การส่งเสริมอารมณ์ของวัยนี้ ลูกจะสามารถแยกแยะเสียงได้มากขึ้น ดนตรี และ เสียงเพลงก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันได้ เจ้าหนูจะอินอารมณ์ไปกับเพลงสนุกๆ เข้าใจอารมณ์ของบทเพลง และ สนใจของเล่นที่มีเสียงที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับเขาได้ ร่วมทั้งการเล่นของคุณพ่อคุณแม่ และ คนใกล้ชิด ที่จะช่วยให้เขามีอารมณ์ที่มั่นคง
พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
ด้วยสายตาที่เขามองคุณพ่อคุณแม่ได้ละเอียดมากขึ้น ทุกครั้งที่คุณพูดลูกจะคอยสังเกตริมฝีปาก และเลียนแบบตามอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นหากจะฝึกพัฒนาการด้านการพูด และ ภาษา ให้ลูก คุณควรพูดกับเขาบ่อยๆ คุยเล่นเหมือนกับเขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง โดยอาจจะคุยเรื่องกิจวัตรประจำวันทั่วไปให้ลูกได้เคยชินกับคำพูดต่างๆ ด้วย และแม้คุณแม่จะไม่ได้ตั้งใจพูดด้วยลูกก็จะแอบฟังเหมือนกัน
คุณพ่อคุณแม่ควรนำเสียงที่มีความหลากหลายมาให้ลูกได้ฟังด้วย เช่น เสียงเพลง เสียงนกร้อง เสียงโทรศัพท์เพื่อให้ลูกได้รับรู้เสียงต่างๆ ด้วย จะได้มีพัฒนาการด้านการออกเสียง และ ภาษาดีขึ้น เพราะลูกได้เลียนแบบนั่นเอง ในมุมกลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เป็นใบ้หรือหูหนวก ก็จะทำให้ลูกเมินเฉยต่อการพูด และ ภาษา รวมทั้งจะทำให้มีสำเนียงที่แปลกประหลาดประหลาดออกไป พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ออกเสียงสระต่างๆ ได้ บางครั้งมีเสียง บ. ม. ผ่านออกมาจากริมฝีปากด้วย
- จ้องมองปากคน ขยับปากพูดตาม
- ส่งเสียงเมื่อได้ยินคนอื่นพูด
- เข้าใจชื่อเฉพาะ และ จดจำชื่อของสิ่งของ
- มีปฏิกิริยาตอบรับเมื่อคนพูด เช่น มองหน้า ยิ้มรับ
พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม
ลูกจะมองคนที่เข้ามาแวดล้อมตนเองอย่างมีความหมาย รวมทั้งสามารถแสดงอารมณ์กับเขาได้ด้วย ไม่ว่าจะทำท่ายิ้มแย้ม ทำสีหน้าวอนขอเมื่อเขามีของเล่นที่ตนเองอยากได้ หรือแม้แต่การแสดงความไม่พอใจเมื่อถูกคนอื่นแกล้ง พรากของเล่นชิ้นโปรดของตัวเขาไป พัฒนาการทางสังคมของทารกวัย 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- แสดงความกลัว กังวล และความโกรธได้
- ใช้ร่างกายสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น เช่น ชูแขนเพื่อให้อุ้ม
- ยิ้ม และ ส่งเสียงเมื่อเห็นเงาในกระจกหรือเห็นคนเดินผ่าน
- ส่งเสียงขัดจังหวะเมื่อมีคนคุยกันหรือเดินผ่าน
- แสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อเห็นคนอื่นหยิบของเล่นของตนเองไป
พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม
เด็กกำลังเรียนรู้และเข้าใจตนเองควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เด็กจะเริ่มเล่นและเริ่มทดลอง และ สังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ตัว คุณจะรู้สึกว่าลูกมีนิสัยการเรียนรู้อย่างเป็นตัวเองมากขึ้น จนไม่ยอมนอนเลยทีเดียว และเด็กในวัยนี้เองที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งของในรูปแบบ การที่มีอยู่และหายไปได้ เขาจะมองหาของที่หายไป พัฒนาการทางสองของทารกวัย 5 เดือนที่ เด่นชัด ได้แก่
- แยกพ่อแม่จากคนแปลกหน้าได้แล้ว
- สายตากับมือทำงานประสานกันได้ด้วยดี
- จ้องสิ่งของเฉพาะบางส่วน ไม่มองภาพรวมของสิ่งของทั้งหมด
- ถือของชิ้นหนึ่ง แต่เมื่อเห็นชิ้นใหม่ก็ทิ้งของในมือเพื่อไปหยิบอีกอัน
- สนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้างแบบซ้ำๆ กัน
- สามารถจดจำสิ่งของคล้ายๆ กันได้
- เลียบแบบการเคลื่อนไหวและเสียงบางอย่างได้
- ชอบจับ ถือ เขย่า และชิมสิ่งของ
- ชอบมองไปรอบๆ เมื่ออยู่แปลกที่
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก รักลูก