Friday, 22 November 2024

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่ ทั้งระหว่างเตรียมตัว และ ระหว่างพิธีการ สำหรับคนที่สงสัย หรือ มือใหม่ที่กำลังจะซื้อบ้าน กำลังจะสร้างบ้าน หรือ กำลังจะย้ายบ้านโดยเฉพาะ

หนึ่งสิ่งสำคัญที่คนกำลังจะซื้อ หรือ ย้ายบ้านใหม่ควรต้องศึกษาข้อมูลเอาไว้ก็คือ พิธีขึ้นบ้านใหม่ เพราะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีมาตั้งแต่โบราณว่า จะช่วยเสริมให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านร่มเย็น เป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยนำขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่ง่าย ๆ แบบละเอียด ๆ มาฝาก เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนถึงวันงาน ไปจนถึงการปฏิบัติตัวในพิธีเลย

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่ คืออะไร

พิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือ พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ ความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นการทำบุญสำหรับการย้ายบ้าน หรือ ที่อยู่ใหม่ จัดขึ้นเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย เชื่อกันว่าจะช่วยให้อยู่เย็น เป็นสุข เจริญรุ่งเรือง รักใคร่ปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาท ป้องกันสิ่งอันตราย ขับไล่สิ่งชั่วร้าย และ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีบุคคลที่เข้าร่วมในพิธี คือ พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ คนในบ้าน และ ญาติพี่น้อง หรือ เพื่อนฝูง ส่วนสถานที่ก็ คือ บ้านที่ย้ายเข้าไปอยู่นั่นเอง

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่

การเตรียมการก่อนถึงวันขึ้นบ้านใหม่

  • หาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ตามความเหมาะสม
  • นิมนต์พระสงฆ์ 5, 7 หรือ 9 รูป ก่อนถึงวันงานประมาณ 1-5 วัน
  • เชิญพิธีกร หรือ เจ้าหน้าที่ และ แขกคนสำคัญ เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนบ้านใกล้เคียง
  • เตรียมของที่ใช้ในพิธีให้เรียบร้อย
  • จัดสถานที่สำหรับประกอบพิธี โดยจะประกอบไปด้วย โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป เครื่องนมัสการ เช่น ธูปเทียน กระถางธูป เชิงเทียนคู่ แจกันคู่ ดอกไม้ และ ผ้าขาว เครื่องใช้ในพิธีสงฆ์ เครื่องรับรองพระสงฆ์ น้ำ และ อาหารคาว-หวานสำหรับพระสงฆ์ เครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทองคำเปลว 9 แผ่น โถปริก และ ปัจจัย (เงิน)
  • วงสายสิญจน์จากพระพุทธรูป โยงไปทางมุมห้อง เวียนไปทางขวา วนรอบตัวบ้าน แล้วกลับมาที่พระพุทธรูปอีกครั้ง ก่อนพันรอบบาตรน้ำมนต์ และ วางที่เหลือไว้บริเวณประธานสงฆ์

การปฏิบัติเมื่อถึงวันขึ้นบ้านใหม่

  • เจ้าภาพจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
  • พิธีกร หรือ เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล 5
  • พระสงฆ์ให้ศีล เจ้าภาพ และ แขกรับศีล
  • พิธีกร หรือ เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
  • พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
  • เจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า หรือ เพลตามเวลา
  • เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมให้กับพระสงฆ์ทุกรูป
  • พระสงฆ์อนุโมทนา
  • เจ้าภาพกรวดน้ำ และ รับพร
  • เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์รูปหนึ่งไปเจิม และ ประน้ำพระพุทธมนต์ที่ป้าย และ ประตูตามความต้องการ พร้อมทั้งโปรยทรายเสกรอบบ้านใหม่ (หากเป็นบ้านเก่าไม่ต้องโปรย) ส่วนพระสงฆ์รูปอื่นเจริญชัยมงคลคาถาชยันโต
  • ลาพระ เป็นอันเสร็จพิธี

ขั้นตอนขึ้นบ้านใหม่ พิธีสงฆ์

เมื่อต้องการจัดงานทำบุญบ้าน หรือ ทำบุญบริษัท เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวสถานที่ และ ตนเองนั้น หลายท่านอาจจะคิดว่าขั้นตอนปฏิบัติของพิธีสงฆ์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก บางท่านอาจจะทำตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ต่อหน้าพระสงฆ์ และ ไม่ทราบเกี่ยวกับขั้นตอนของพิธี ทางซอสามสายจึงสรุปขั้นตอน สั้นๆ และ เข้าใจง่าย ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะจัดงานบุญที่บ้าน หรือ ที่บริษัท แล้วท่านจะรู้ว่างานพิธีสงฆ์ในการทำบุญเลี้ยงพระ ไม่ได้ยาก และ วุ่นวายอย่างที่คิด ดังนี้

  • นิมนต์พระสงฆ์เข้ายังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ถวายน้ำดื่ม สนทนาธรรม และ พร้อมเริ่มพิธีการเมื่อถึงเวลาฤกษ์
  • จุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนโดยเริ่มจากด้านขวาของพระพุทธก่อนแล้วจึงตามด้วยเทียนด้านซ้าย และ ธูป ตามลำดับ
  • กราบพระพุทธ แบบเบญจางค์ประดิษฐ์ ประธานฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวบูชาพระรัตนตรัย ตามด้วยอาราธนาศีล 5 ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวตามพระสงฆ์ด้วยบทสมาทานศีล ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวบทอาราธนาพระปริตร
  • ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พาลานัง” ถวายข้าวพระพุทธ ประธานถวายพระพุทธโดยวางภัตตาหารบนโต๊ะ หรือ ผ้าขาวด้านหน้าโต๊ะหมู่ฯ วางให้สูงกว่าอาสนะพระสงฆ์
  • ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เจ้าบ้าน และ แขกเหรื่อช่วยกันประเคน
  • เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วให้นำจตุปัจจัย ดอกไม้ ธูป เทียน และ หรือ สังฆทานมาวางรอไว้ที่หน้าพระสงฆ์ทุกรูป ดอกไม้วางขนานปลายดอกไม้ชี้ไปทางด้านขวามือของพระสงฆ์ และ เจ้าภาพเข้ามาที่ต่อหน้าพระเพื่อยกถวาย หลังจากที่กล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว
  • ลาข้าวพระพุทธ ต่อเนื่องด้วยการถวายสังฆทานด้วยบทถวายสังฆทาน
  • พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจ้าบ้าน และ ผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล
  • พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งสวดชยันโตฯ พนมมือ รับน้ำพระพุทธมนต์
  • เจ้าภาพนำจตุปัจจัยขึ้นรถ เพื่อส่งพระกลับวัด
  • เสร็จพิธี

ภัตตาหาร

สำหรับเครื่องคาวเครื่องหวานขึ้นบ้านใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง โดยทั่วไปแล้วอาหารที่ต้องจัดเตรียมไว้แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ ชุดบูชาข้าวพระพุทธ เครื่องคาวเครื่องหวานสำหรับถวายพระสงฆ์ และ ชุดเซ่นไหว้ถวายเจ้าที่ หรือ ศาลพระภูมิ ซึ่งอาหารคาวหวาน ไม่เพียงแต่ใช้เลี้ยงพระ เลี้ยงแขกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ดังนั้นอาหารคาวหวานที่จะเตรียมเข้ามาในพิธี ควรจะเป็นอาหารที่มีชื่อ และ มีความหมายเป็นมงคล ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่ไม่เป็นมงคลด้วย ไม่จำเป็นจะต้องหามาให้ครบทุกอย่าง เอาเท่าที่ได้ และ กำลังทรัพย์ที่มีก็เพียงพอแล้ว

  • อาหารมงคล อย่างเช่น ลาบ ต้มจืด ขนมจีน เมนูปลา และ ลูกชิ้นปลา ผัดหมี่ ห่อหมก ผัดไทยเส้นจันทร์ ผัดถั่วงอก แกงฟักทอง เมนูเต้าหู้
  • ของหวาน อย่างเช่น ลอดช่องน้ำกะทิ ข้าวเหนียวน้ำกะทิ ข้าวตอกน้ำกะทิ ทองหยิบ เม็ดขนุน ขนมถ้วยฟู ฝอยทอง ขนมชั้น ทองเอก ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมจีบ ทองหยอด
  • ผลไม้มงคลขึ้นบ้านใหม่ อย่างเช่น องุ่นแดง สับปะรด ส้มสีทอง แก้วมังกร กล้วย แอปเปิลแดง ลิ้นจี่ สาลี่ทอง ทับทิม ลูกพลับ เกาลัด ทุเรียน ลำไย มะม่วง เป็นต้น

นอกจากการจัดเตรียมอาหารต่าง ๆ ที่เป็นมงคลแล้ว ก็ต้องระวังอย่านำอาหารที่ไม่เป็นมงคลเข้ามาในบริเวณที่ทำพิธีไหว้เจ้าที่ และ ขึ้นบ้านใหม่ด้วย ซึ่งก็มีอาหารดังต่อไปนี้

  • ข้าวต้ม เนื่องจากส่วนใหญ่จะนิยมทำข้าวต้มในงานศพ ดังนั้นจึงไม่เป็นมงคลหากนำมาในงานพิธีไหว้เจ้าที่ขึ้นคอนโดใหม่
  • เหล้าเบียร์ โดยในวันมงคลแบบนี้ไม่ควรนำเข้ามาเด็ดขาด
  • อาหารหมักดอง และ อาหารที่มีกลิ่นเหม็น เชื่อว่าจะนำความโชคร้ายต่าง ๆ เข้ามาได้
  • หอยขม เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความขมขื่น อีกทั้งยังไม่เถอะกับการถวายพระอีกด้วย
  • ปลาร้า เนื่องจากมีกลิ่นเหม็น และ มีความหมายที่ไม่ดีมากนัก
  • ผลไม้บางชนิด เช่น ละมุด ลูกท้อ ระกำ มะเฟือง มะไฟ น้อยหน่า ลางสาด มะตูม พุทรา กะท้อน มะขวิด

นำของมงคลต่าง ๆ เข้าบ้าน

การนำของมงคลต่าง ๆ เข้ามาในวันที่ทำพิธีไหว้เจ้าที่ขึ้นบ้านใหม่ จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข และมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ดังนั้นหลังจากอัญเชิญพระพุทธรูปเสร็จแล้วก็ให้นำของมงคลเข้าบ้านใหม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร ของคาว ของหวาน เครื่องปรุง โดยเฉพาะขนมไทย ๆ ที่มีชื่อเป็นมงคล โดยนำของทั้งหมดไปวางไว้ที่โต๊ะตรงกลางบ้านพร้อมกับข้าวของมีค่าต่าง ๆ ที่สำคัญจะต้องเปิดหน้าต่าง ผ้าม่านและเปิดไฟให้หมด นอกจากนี้อาจจะหาเพลงมาเปิดฟังเพลิน ๆ ด้วยก็ได้ แต่จะต้องระวังอย่าให้เป็นการรบกวนบ้านอื่น ๆ มากเกินไปนะคะ

ข้อห้ามของพิธีขึ้นบ้านใหม่

ตามหลักโหราศาสตร์แล้ว วันเสาร์เป็นวันแห่งความทุกข์ ถือเป็นฤกษ์ไม่ดีในการจัดงานบุญเสริมสิริมงคล ดังนั้นปกติแล้วเค้าจึงไม่จัดพิธีขึ้นบ้านใหม่กันในวันเสาร์


เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save