โทรศัพท์ตกน้ำ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับช่วงหน้าร้อนเลยก็ว่าได้ เพราะการไปเที่ยวทะเล หรือ น้ำตก ในช่วงหน้าร้อน หรือ ไปโดนสาดน้ำมาในช่วงสงกรานต์ ถ้าหากโทรศัพท์ของคุณโดนน้ำ หรือ ตกน้ำเข้าไปแล้ว อาจจะน้ำตาตกเพราะค่าซ่อม หรือ เปลี่ยนเครื่องใหม่ไปเลยก็ว่าได้ วันนี้เรามาแนะนำวิธีดูแล หรือ ป้องกันไม่ให้โทรศัพท์ฯ ของเราโดนน้ำกัน หากมือถือของคุณไม่ใช่รุ่นที่กันน้ำ จะมีวิธีการดูแลยังไงบ้าง รวมถึงเรื่องการเอามือถือตกน้ำไปแช่ข้าวสาร ทำได้หรือไม่
โทรศัพท์ตกน้ำ ทำตามขั้นตอนโอกาสรอดสูงมาก
- รีบนำขึ้นจากน้ำทันที อย่ามัวแต่ตกใจอ้าปากค้าง เพราะยิ่งแช่น้ำนานเท่าไหร่ ความเสียหายก็ยิ่งมากขึ้นตาม เมื่อโทรศัพท์ตกน้ำ คว้าขึ้นมาได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดีที่สุด
- อย่ากดปุ่มเปิด-ปิดเด็ดขาด รวมถึงปุ่มต่าง ๆ ที่อยู่บนตัวเครื่องด้วย เพราะความชื้นจากการตกน้ำ หรือ แช่น้ำอาจทำให้เกิดการลัดวงจร และ เสียหายหนักกว่าเดิม หรือ ถาวรได้
- ถอดส่วนประกอบให้ไว ส่วนประกอบที่ว่านี้หมายถึงซิมการ์ด เมมโมรี่การ์ด แบตเตอรี่ หน้ากาก ฝาหลัง ฯลฯ ที่สามารถถอดเองได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ จากนั้นให้นำผ้า หรือ ทิชชู่ชนิดที่ไม่มีขนมาซับน้ำออกให้แห้ง และ ไวที่สุด
- สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ คือ ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผม เป่าให้แห้งเด็ดขาด เนื่องจากลมจากไดร์เป่าผมมีความร้อนสูง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ หรือ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในได้โดยง่าย รวมถึงการเอามือถือที่เปียกน้ำไปตากแดด หรือ ไปเข้าไมโครเวฟด้วย
- ห้ามเอาโทรศัพท์ไปแช่ถังข้าวสารเด็ดขาด เพราะในแบตเตอรี่มีประจุไฟฟ้าอยู่ อาจจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ และ อีกอย่าง คือ ระยะเวลาของการดูดความชื้นจากข้าวสารจะใช้เวลานานกว่า
- หากต้องการดูดความชื้นออกจากโทรศัพท์ แนะนำให้ใช้ สารดูดความชื้นซิลิก้าเจล หรือ พวกซองกันชื้นที่แถมมากับพวกขนมต่างๆ
- สุดท้ายแนะนำให้ไปร้านโทรศัพท์มือถือ ให้ช่างใช้เครื่องมือไล่น้ำ หรือ ความชื้นออก จากตัวเครื่อง
- เมื่อทุกขั้นตอนข้างต้นผ่านพ้นไปด้วยดี และ แน่ใจว่าตัวเครื่อง กับอุปกรณ์ทุกอย่าง รวมถึงทุกซอกทุกมุม ทั้งภายใน และ ภายนอก ปราศจากน้ำ และ ความชื้นแล้ว ก็ให้นำซิมการ์ด แบตเตอรี่ หน้ากาก ฝาหลัง ฯลฯ มาประกอบกลับเข้าที่ตามเดิม
- หลังจากประกอบตัวเครื่องเรียบร้อยดีแล้ว ยังไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากวงจรภายในอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับกระแสไฟฟ้าแรงสูง และ อาจทำให้ตัวเครื่องลัดวงจรจนเกิดเหตุอันตรายได้
- จากนั้นให้ลองเปิดเครื่อง หากสามารถเปิดได้ก็ให้ตรวจสอบอาการผิดปกติอื่นๆ ในการใช้งานพื้นฐานทันที เช่น หน้าจอติด หรือ ไม่ โทรออกโทรเข้าได้ หรือ ไม่ ลำโพงดัง หรือ ไม่ ปุ่มกดใช้งานได้ทุกปุ่ม หรือ ไม่ กล้องถ่ายได้ หรือ ไม่ ตรวจเจอการ์ดหน่วยความจำหรือไม่ ยังใช้งานเมนู หรือ ฟังก์ชันต่างๆ ได้ปกติหรือไม่ ฯลฯ
หากลองใช้งานดูแล้วไม่พบปัญหาใดๆ สามารถใช้งานได้ตามปกติ ก็ถือว่าเป็นโชคดีอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะโชคดีไม่เกิดปัญหาใดๆ หรือ โชคร้ายต้องเจอกับปัญหาตามมา ทางที่ดีก็ควรจะต้องนำเครื่องไปไปให้ศูนย์ หรือ ช่างผู้ชำนาญ ช่วยจัดการให้อีกครั้งหนึ่ง
วิธีป้องกันไม่ให้ โทรศัพท์ตกน้ำ
เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาโทรศัพท์มือถือตกน้ำ หรือ เปียกน้ำกันไปแล้ว คราวนี้เรามาลองดูวิธีการป้องกันไม่ให้มือถือของเราเปียกน้ำในกรณีที่ต้องนำไปใช้งานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น สระว่ายน้ำ เล่นสงกรานต์ ไปเที่ยวทะเล หรือ น้ำตก เป็นต้น
ถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกช่วยคุณได้ เพียงแค่ลองใช้ถุงพลาสติกที่หายได้ทั่วไปเอาแบบที่ไม่รั่ว จะเป็นถุงใส่แกงก็ได้ นำมือถือมาใส่แล้วก็เอาหนังยางรัดให้แน่น เพียงเท่านี้มือถือก็ปลอดภัยจากการเปียกน้ำในเบื้องต้นได้แล้ว
ฟิล์มถนอมอาหาร
ห่อมือถือด้วยฟิล์มถนอมอาหาร เพียงแค่ดึงฟิล์มถนอมอาหารที่เราใช้กันในครัวออกมาพันมือถือให้มิดชิดอย่าให้เหลือช่องว่าง เอาให้ชัวร์ คือ พันเอาไว้หลาย ๆ รอบสักหน่อยก็จะช่วยกันน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น อาจจะเสริมความปลอดภัยด้วยการพันฟิล์มถนอมอาหารเสร็จแล้วใส่ลงในถุงแกงแล้วรัดหนังยาง หรือ ใช้ถุงซิปล็อคอีกครั้งก็ได้
ซองกันน้ำ
ใส่ซองกันน้ำ เดี๋ยวนี้มีการผลิตซองกันน้ำสำหรับใส่มือถือโดยเฉพาะวางขายกันทั่วไป ยิ่งในช่วงสงกรานต์ยิ่งหาซื้อได้ง่าย และ มีราคาไม่แพง แถมยังใช้งานสะดวกเพราะออกแบบมาให้โดยเฉพาะ มีสายสำหรับคล้องคอพร้อมใช้งานลุยน้ำได้อย่างสบายใจ
ถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย หาซื้อได้ง่ายตามเซเว่น และ ร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไป เพียงแค่นำมาสวมกับมือถือแล้วก็รัดปากถุงให้เรียบร้อยก็ช่วยกันน้ำได้แล้ว
เคสโทรศัพท์กันน้ำ
เคสโทรศัพท์กันน้ำ นอกจากซองใส่โทรศัพท์กันน้ำแล้วยังมีเคสมือถือกันน้ำที่ผลิตมาให้พอดีกับแต่ละรุ่นอีกด้วย สามารถซื้อมาแล้วใส่ใช้งาน
โทรศัพท์มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น ป้องกัน โทรศัพท์ตกน้ำ
ใช้โทรศัพท์ที่มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น ส่วนใหญ่โทรศัพท์พวกนี้มักจะเป็นรุ่นเรือธงที่ค่อนข้างมีราคาแพง แต่ก็มาพร้อมกับมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นมาตรฐาน IP67 และ IP68 โดยมาตรฐาน IP นี้ก็จะย่อมากจาก Ingress Protection Rating เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดความสามารถในการปกป้องสิ่งที่อยู่ภายในของอุปกรณ์ข้างในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมาตรฐานนี้ถูกคิดค้น และ พัฒนาขึ้นมาโดย European Committee for Electrotechnical Standardization โดยจะใช้ตัวเลขในการจัดอันดับความสามารถในการป้องกันทั้งน้ำ และ ฝุ่นหลังตัวอักษร IP โดยเลขหลักที่ 1 เป็นเลขที่ชี้วัดการกันฝุ่นไม่ให้เข้าไปในเครื่อง แบ่งเป็น 0-6 ระดับ เลขหลักที่ 2 เป็นเลขที่ชี้วัดการกันน้ำไม่ให้สามารถเข้าไปในเครื่องได้ แบ่งเป็น 0-8 ระดับ ยกตัวอย่างมือถือที่มีมาตรฐาน IP68 ก็หมายความว่าสามารถป้องกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์ และ สามารถป้องกันน้ำจากการจมได้ในระดับลึกไม่เกิน 3 เมตรนั่นเอง และ ทั้งหมดนี้ก็ คือ วิธีการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โทรศัพท์มือถือสุดที่รักของเราต้องพังเพราะเปียกน้ำ ซึ่งถ้าหากใครมีงบเยอะหน่อยก็แนะนำให้ซื้อรุ่นที่มีคุณสมบัติกันน้ำกันฝุ่นมาใช้จะได้ไม่ต้องมาคอยกังวลว่ามือถือเปียกน้ำแล้วจะพัง หรือ เปล่า แต่ถ้าใครใช้มือถือรุ่นที่ไม่มีคุณสมบัติกันน้ำกันฝุ่นก็ลองใช้วิธีการป้องกันตามที่เราได้แนะนำกันดู แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์มือถือเปียกน้ำไปแล้วทดลองทำตามวิธีการเบื้องต้นตามที่ได้แนะนำเอาไว้เผื่อจะพอช่วยกู้ชีพมือถือของคุณได้ จะได้ไม่ต้องส่งซ่อมที่ศูนย์บริการให้เสียเวลา และ เสียค่าใช้จ่าย