Sunday, 24 November 2024

ผักเคล ราชินีแห่งผักใบเขียว

10 Mar 2021
3710
ผักเคล

ผักเคล ราชินีแห่งผักใบเขียว ประโยชน์มหาศาล ลดคอเลสเตอรอล ต้านมะเร็ง ที่สาย รักสุขภาพ ต้องรู้จัก “เคล” หรือ “คะน้าใบหยัก” เป็นผักใบเขียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จนเรียกได้ว่าเป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” สารพัดประโยชน์ช่วยเสริมสร้าง “สุขภาพดี” หนุ่มสาวสายเฮลตี้ต้องหามากินด่วนๆ

โดยพบว่าในช่วง 1-2 ปีมานี้ มีโปรดักส์อาหารเสริมจากผักเคลออกวางจำหน่ายตามท้องตลาดจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เคลแคปซูล, เคลพาวเดอร์, เคลอบกรอบ(Chips), สมูทตี้เคล ฯลฯ 

สำหรับคนไทยคงคุ้นเคยกับ ‘ผักคะน้า’  กันอยู่แล้วในเมนูอาหารไทยทั่วไป แต่สำหรับ “เคล” เป็นคะน้าที่มีหน้าตาแตกต่างออกไป ด้วยขอบใบที่มีลักษณะหยิกหยักไปมา และ เป็นพืชที่เน้นกินใบเป็นหลัก

ผักเคล หรือ คะน้าใบหยัก มาจากที่ไหน?

“ผักเคล” หรือ เรียกว่า “คะน้าใบหยัก” นั้น มีคนขนานนามให้มันว่า “The new beef” ประมาณว่าเป็นเนื้อรูปแบบใหม่ ไม่ก็ “The queen of green” ราชินีแห่งผักใบเขียว หรือ เป็น “A nutritional house power” บ้านแห่งสารอาหาร  เพราะผักชนิดนี้ไม่ได้มีดีแค่ประโยชน์ 2-3 อย่าง แต่อัดแน่นไปด้วยธาตุเหล็กในปริมาณมาก ถึงขนาดที่เนื้อสัตว์ยังอาย และ เมื่อเทียบจำนวนแคลอรี่ก็เรียกว่าชิดซ้าย

“เคล” เป็นผักที่มีตระกูลเดียวกับ  กะหล่ำปลี  กะหล่ำดอก กะหล่ำบรัสเซลส์  และ บร็อคโคลี ผักเคลมีหลากหลายสายพันธุ์  ใบอาจมีได้ตั้งแต่สีเขียว สีม่วง ขอบใบเรียบ หรือ ขอบใบเป็นลอน แต่ที่เป็นที่พบมากที่สุดคือ เคลใบหยักสีเขียวเข้ม และ มีลำต้นที่แข็งเป็นเส้นๆ

ผักเคลมีต้นกำเนิดในแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และ เอเชียไมเนอร์  ซึ่งได้รับการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารตั้งแต่ปี 2000 ก่อนคริสตศักราช  ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช คะน้าใบหยิก และ คะน้าใบแบนถูกพบในประเทศกรีซ  ซึ่งชาวโรมันเรียกว่า ‘คะน้าซาเบลเลียน’ ถือเป็นบรรพบุรุษของคะน้าสมัยใหม่

จากนั้นผักเคลได้แพร่กระจายออกไปทั่วยุโรปในศตวรรษที่ 13  และ ยังพบบันทึกของชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 14 เขียนถึงผักเคลประเภทต่างๆ อีกทั้งพบผักเคลบางสายพันธุ์มาจากประเทศรัสเซียด้วย  ต่อมาผักเคลถูกนำเข้ามาในแคนาดา และ สหรัฐอเมริกาโดยพ่อค้าชาวรัสเซียในศตวรรษที่ 19  จากนั้นผักเคลก็ถูกแพร่ขยายไปสู่โครเอเชีย  มีการปลูกผักเคลกันอย่างแพร่หลายในโครเอเชียเพราะปลูกง่าย และ ราคาไม่แพง  จากนั้นมันเป็นที่นิยมมากขึ้นในฐานะผักที่กินได้ในช่วงปี ค.ศ. 1990 เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

สำหรับในไทย “เคล” เป็นผักที่คุ้นเคยของสายเฮลท์ตี้ ผู้ที่กินเนื้อสัตว์น้อย กินผักเยอะ เช่น ผู้ที่กินคลีน ชีวจิต กินน้ำปั่นผัก กินสลัดผัก มาหลายปีแล้ว แต่ในปัจจุบันมีโควิด-19 คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ผักเคลก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ผักเคล 2 สายพันธุ์ยอดนิยมคนไทย

ผักเคล ใบตรง

ผักตระกูลเคลมีมากมายหลายสายพันธุ์ และ เป็นผักตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลี วอเตอร์เครส บร็อกโคลี่ กะหล่ำม่วง และ ดอกกะหล่ำ ในไทยมีผักเคล 2 สายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกง่าย หากินได้ง่าย คือ

  • เคลใบหยิก (Curly Kale) มีความโดดเด่นที่ขอบใบหยิก ลำต้นแข็ง รสชาติคล้ายกะหล่ำ ขมนิดๆ นิยมนำมากินเป็นสลัด และ ทำสมูทตี้ หรือ ปั่นเป็นน้ำผัก
  • เคลใบตรง (Lacinato Dinosaur Kale) หรือ บางคนเรียก เคลไดโนเสาร์ มีลักษณะสีเขียวเข้ม ใบกว้าง 2-3 นิ้ว มีความโดดเด่นที่ใบตรงแต่มีรอยย่น รสชาติออกหวานมากกว่าเคลใบหยิก นิยมนำมากินเป็น “สลัด” หั่นเส้นบางๆ หรือ พอดีคำ แล้วคลุกเคล้าน้ำมันมะกอก

คุณประโยชน์ของ ผักแคล

ถึงมีรูปลักษณ์ไม่สวยงาม ไม่น่ารับประทาน แต่หากได้รู้สรรพคุณที่อัดแน่นของผักเคลแล้ว คุณต้องรีบไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหาซื้อผักเคลมากินในอาหารมื้อต่อไปแน่ เพราะประโยชน์ของผักเคลมีมากมายจริงๆ สรุปประโยชน์ของผักเคลตามลำดับสรรพคุณโดดเด่น ดังนี้ 

  • ผักเคลมี “วิตามินเค” สูงที่สุดในบรรดาผักใดๆ ในโลก หากกินผักเคล 1 ถ้วย เท่ากับร่างกายได้รับวิตามินเคถึง 6 เท่าของความต้องการต่อวัน หรือ กินแค่ต้นสองต้นประมาณ 10-20 กรัม ก็ได้รับวิตามินเคเท่าความต้องการของร่างกาย ซึ่งวิตามินเคดีต่อเซลล์สมอง กระดูก และ ระบบเลือด ช่วยป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด และ ช่วยในการแข็งตัวของเลือดหากมีบาดแผลจนสูญเสียเลือดมาก ช่วยให้เลือดหยุดได้ง่าย วิตามินเคจำเป็นกับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากพลั้งพลาดเกิดอุบัติเหตุเลือดไหล หากขาดวิตามินเค ไม่มีคนดูแล มาช่วยปฐมพยาบาล หรือ ส่งไปรักษาช้า จะทำให้สูญเสียเลือดเยอะ เกิดภาวะช็อก และ อาจเสียชีวิตได้
  • ผักเคลมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูงมาก เป็นแร่ธาตุสำคัญ และ จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
  • ผักเคลจุดเด่นคือมีสีเขียวเข้ม ทำให้มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ค่อนข้างสูง ซึ่งรายงานวิจัยระบุไว้ว่า คลอโรฟิลด์ช่วยให้ร่างกายลดการดูดซึมสาร “เฮทเทอโรไซคลิก อะโรมาติก เอมีน” (heterocyclic aromatic amines) หรือ สารก่อมะเร็งจากอาหารประเภทปิ้งย่างเข้าสู่ร่างกาย คลอโรฟิลด์จะไปจับ และ ขับออกจากร่างกาย
  • ผักเคลมีวิตามินซีสูง หากกินผักเคล 100 กรัม จะได้รับวิตามินซี 120 มิลลิกรัม ซึ่งวิตามินซีช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันหวัด ช่วยให้ระบบข้อต่อแข็งแรง แนะนำควรกินสดๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียวิตามินซี หรือ มีเมนูแนะนำ อบ 200 องศาฯ ก็จะได้กินผักเคลที่กรอบ แต่วิตามินซีหายเพราะไม่ทนความร้อน
  • ผักแคลมีแคลเซียมสูง แต่การดูดซึมของร่างกายไม่ดีเท่ากับดื่มนม
  • ผักเคลมีเบต้าแคโรทีน (beta-carotene) โดยปกติร่างกายของมนุษย์เราสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงสายตาให้มองเห็นในที่มืดได้ดี ลดความเสื่อมของตา ลดการเป็นต้อกระจก และ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส สุขภาพดี ไม่มีริ้วรอยแก่ก่อนวัย
  • ผักเคล มีไฟเบอร์เยอะ และ มีน้ำในตัว ช่วยเรื่องการขับถ่าย เหมาะกับผู้ท้องผูกบ่อยๆ และ ช่วยเพิ่มการจับ และ ขับคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย เหมาะกับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
ผักเคลสมูทตี้

ผักเคล กินแต่พอดี กินเยอะใช่ว่าจะดี

ด้วยผักเคลอุดมด้วยแร่ธาตต่างๆ “กินน้อยๆ ได้ประโยชน์ ทานโอเวอร์โหลดก่อโทษได้” มาดูกันว่ามีโทษอะไรบ้าง รู้ก่อนกินเคล

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ได้ใช้ยา หมอให้ควบคุมอาหาร และ หมั่นออกกำลังกาย ควรกินผักเคล เพราะผักเคลมีเแคลเซียม โพแทสเซียม แต่โซเดียมต่ำ แต่หากเริ่มกินยารักษาความดัน หรือ ทานยาลดหัวใจ ต้องระวังอย่ากินเยอะ เพราะผักแคลมีโปแทสเซียมสูง จะไปต้านฤทธิ์ของยาที่กินรักษาโรคได้
  • ผักเคลมีวิตามินเคสูง จึงเหมาะกับผู้ที่ขาดวิตามินเค โดยเฉพาะกลุ่มคนรับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินอี วิตามินเอ
  • ผู้ที่รับประทานยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ควรกินผักเคลน้อยๆ ครั้งละต้นสองต้น ประมาณ 10 กรัม แต่อย่ากินผักเคลเยอะ เพราะวิตามินเคในผักเคลจะไปช่วยให้เลือดแข็งตัว ทำให้เลือดไหลหมุนเวียนได้ไม่สะดวก
  • ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรกินผักเคล เพราะผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารที่มีโปแทสเซียมสูง หากต้องฟอกไต คนไข้จะไม่สามารถขับโปแทสเซียมออกจากร่างกาย หากมีโปแทสเซียมสูงจะเป็นอันตรายกับคนไข้
  • ผักเคลมีไฟเบอร์สูง มีรายงานวิจัยไว้ หากนำมา “นึ่ง” แล้วรับประทานแทนการกินสด จะช่วยเพิ่มการจับ และ ขับคอเลสเตอรอลออกจากร่างกายได้ดีกว่า ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงจึงควรกินผักเคลนึ่ง

บทสรุป

แม้เคลจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ก็ไม่ควรรับประทานจนเกินความพอดี เพราะหากบริโภคมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้  หากคุณมีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือ ที่เรียกว่าไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถบริโภคผักเคลได้มากน้อยแค่ไหนจึงจะพอดี และ ไม่เป็นผลเสียต่อร่างกาย

บทความสำหรับคนเป็นภูมิแพ้ ซึ่งก่อนหน้าได้เขียนถึงการใช่น้ำเกลือล้างจมูก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ วิธีล้างโพรงจมูก ลดอาการภูมิแพ้ โดยคนที่เป็นภูมิแพ้ หรือ เป็นหวัดบ่อยๆ สามารถใช้น้ำเกลือล้างจมูกได้


เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save