เจ็บหัวเข่าจากการวิ่ง วิ่งแล้วปวดเข่า-ปวดหลัง อย่าเพิ่งโทษรองเท้า! ปรับท่าวิ่งช่วยลดอาการบาดเจ็บ ปัจจุบันคนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่ง “การวิ่ง” คือ กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย และ ลงทุนน้อย แค่มีรองเท้าวิ่งหนึ่งคู่ก็สามารถเริ่มวิ่งได้แล้ว แต่ก็เพราะความคิดที่ว่าการวิ่งนั้น “ง่าย” นี่แหละ ทำให้นักวิ่งหน้าใหม่หลายคนละเลยที่จะเรียนรู้ถึงวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง พอเกิดอาการบาดเจ็บก็มักสรุปเอาเองว่ารองเท้าไม่ดี ทั้งที่จริงแล้ว “เราวิ่งไม่ถูกวิธี” ต่างหาก!
เจ็บหัวเข่าจากการวิ่ง ปัจจัยที่พบบ่อย มีดังนี้
- เคยมีอาการบาดเจ็บมาก่อนในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
- มีมุมของขาคอดเข้าไปข้างใน
- วิ่งมากกว่า 64 กิโลเมตรต่อสัปดาห์
- วิ่งสัปดาห์ละครั้ง
- วิ่งมากกว่า หรือ เท่ากับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
นอกจากนี้คนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ขาดความรู้ ประสบการณ์ในการวิ่ง ใส่รองเท้าวิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ วิ่งบนพื้นคอนกรีต ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้คุณมีโอกาสเกิดอาการปวดเข่าจากการวิ่งได้เช่นกัน
เจ็บหัวเข่าจากการวิ่ง อาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย
การวิ่งจะเป็นการออกกำลังกายที่ดูง่าย และ ไม่อันตราย แต่ก็มักพบนักวิ่งทั้งมือเก่ามือใหม่ได้รับบาดเจ็บกันอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะในการวิ่งจะมีช่วงที่ร่างกายลอยอยู่ในอากาศ เมื่อกลับลงสู่พื้นจะต้องใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการรับน้ำหนัก หรือ แรงกระแทกที่มากกว่าภาวะปกติราว 3 เท่าของน้ำหนักตัว นักวิ่งจึงอาจได้รับบาดเจ็บสะสมจากการกระแทกซ้ำๆ และ แม้ว่ารองเท้าสำหรับวิ่งสามารถช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่งได้ส่วนหนึ่ง แต่หากนักวิ่งมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เช่น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอ ไม่มีความยืดหยุ่นที่ดี วิ่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง วิ่งในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือ การวิ่งมากเกินไป ก็จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการบาดเจ็บได้มากขึ้น
ปวดเข่า-ปวดหลัง อาการบาดเจ็บยอดฮิตของนักวิ่ง
ปวดเข่าด้านหน้า เป็นการบาดเจ็บที่ผิวกระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้า จากการเสียดสีของลูกสะบ้ากับกระดูกต้นขา เป็นอาการบาดเจ็บที่นักวิ่งเป็นกันมากจนได้รับชื่ออาการว่า Runner’s knee โดยคนไข้จะมีอาการปวดรอบๆ กระดูกสะบ้าเวลางอเข่า โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงเนินเขาหรือ บันได เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือการก้าวยาวเกินไปเวลาวิ่ง วิ่งลงส้นเท้าในขณะที่เข่าตึง การไม่บริหารให้เกิดความยืดหยุ่นของข้อ และ กล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง รวมไปถึงการเพิ่มระยะทางวิ่งในขณะที่กล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย กล้ามเนื้อต้นขา และ กล้ามเนื้อสะโพกด้านข้างยังไม่แข็งแรงพอ เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการล้า จะส่งผลให้เข่าทั้งสองข้างต้องรับแรงกระแทกมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการปวดเข่า
ปวดเข่าด้านนอก หรือ ITBS (iliotibial band syndrome) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจาก IT Band ซึ่งเป็นเอ็นที่อยู่ด้านข้างต้นขาเสียดสีกับกระดูกเข่าด้านนอก ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บเข่าด้านนอกร้าวขึ้นไปต้นขา สาเหตุมักจะเกิดจากการวิ่งระยะไกล โดยสภาพกล้ามเนื้อเกิดความล้า วิ่งขึ้นลงทางชัน วิ่งในพื้นแข็งๆ เป็นเวลานาน รวมไปถึงการวิ่งโดยลงเท้าในลักษณะเปิดเข้าด้านใน
ปวดหลัง เป็นอีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักวิ่งมือใหม่ จะมีอาการปวดไปทั้งแผ่นหลัง หรือ ปวดเฉพาะบริเวณเอว โดยสาเหตุอาจเกิดจากการวิ่งโน้มตัวไปข้างหน้ามากเกินไป การไม่แกว่งมือตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ร่างกายขาดสมดุล จึงเกิดการเกร็งตัวอัตโนมัติเพื่อรักษาสมดุล กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่เกิดการเกร็งตัวเป็นเวลานานจึงล้า และ มีอาการปวด รวมไปถึงการที่ไม่ได้ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบลำตัวให้แข็งแรงพอ
มาปรับ ท่าวิ่ง ลดอาการบาดเจ็บกันเถอะ
ศีรษะ ควรตั้งให้ตรงเป็นแกนเดียวกับลำตัว ไม่ก้ม ไม่เงย สายตามองตรงไปข้างหน้า เพื่อให้ไม่เกิดการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อคอ และ ไม่ทำให้น้ำหนักลงที่บั้นเอว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้
ลำตัว และ หลัง ควรตั้งตรงตามธรรมชาติ ยืดหลังให้ตรงแต่ไม่เกร็ง เพื่อให้การหายใจเข้ามีประสิทธิภาพ ปอดขยายตัวได้อย่างเต็มที่ และ ป้องกันอาการปวดหลังได้
แขน และ ไหล่ แขนควรแกว่งให้สัมพันธ์กับการก้าวเท้าขณะวิ่ง ตั้งศอกเป็นมุมประมาณ 90 องศา ไหล่ไม่ห่อ และ ไม่ยกสูง และ ไม่โยกเวลาวิ่ง
เข่า เท้า และ ข้อเท้า วิ่งปลายเท้าตรงไปข้างหน้าไม่บิดเข้าข้างใน การวางเท้าลงพื้นไม่ควรกระแทกกับพื้นแรงๆ ส้นเท้าควรสัมผัสพื้นก่อน ตามด้วยฝ่าเท้า เมื่อปลายเท้าแตะพื้นจะพอดีกับจังหวะที่ส้นเท้าเปิดขึ้น พร้อมถีบตัวเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งการลงเท้าที่ผิดวิธีอาจทำให้เกิดข้อเท้าพลิกได้ ส่วนเข่าไม่ควรยกสูงมากนัก และ ไม่เหยียดจนสุด ไม่ควรก้าวยาวเกินไป และ ขณะเท้าสัมผัสพื้นควรปล่อยเข่าสบายๆ ไม่เกร็ง เพื่อให้การงอเข่าเป็นไปตามธรรมชาติ
นอกจากการปรับท่าวิ่งแล้ว สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือการวอร์มอัพและยืดกล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความยืดหยุ่น จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ และจะต้องไม่หักโหมจนเกินไป ค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและระยะทาง โดยเฉลี่ยไม่เกิน 10% ต่อสัปดาห์ รวมไปถึงการบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อลำตัว สะโพก และต้นขาอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือหากเกิดอาการบาดเจ็บไม่ควรฝืนวิ่งต่อ อย่าคิดว่าวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วอาการจะดีขึ้น เปลี่ยนไปออกกำลังกายที่ได้รับแรงกระแทกน้อยกว่า เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และ อาจรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย เมื่อหายจากอาการบาดเจ็บค่อยกลับมาวิ่งใหม่ แต่หากมีอาการกล้ามเนื้อขาอักเสบ หรือ บวม ปวดเกินกว่าที่จะทนได้ ควรรีบพบแพทย์
หลังวิ่งเสร็จ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
หลังจากวิ่งเสร็จ ผมอยากแนะนำให้ทำท่า Cool Down ด้วยท่า Hamstring และ Squat การที่เราได้ยืดเส้น ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ 2 ส่วนนี้ เป็นการช่วยลดอาการเจ็บเข่าได้ เพราะระหว่างวิ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้ถูกใช้งานหนักนั่นเอง
การป้องกันและการรักษา
- ฝึกวิ่งโดยเพิ่มระยะทางการวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ก้าวขาขณะวิ่งให้แคบลง และ ให้งอเข่าเล็กน้อยเมื่อเท้าลงกระทบกับพื้น เพื่อช่วยลดแรงกระแทกบริเวณหัวเข่า พบว่าลดแรงกระแทกลงได้ถึง 30%
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย
- ประคบด้วยความเย็น หลังจากการวิ่งทุกครั้ง เพื่อลดการอักเสบ
- พบแพทย์เพื่อตรวจสอบท่าทางการเดิน ด้วยเครื่องประเมินการเคลื่อนไหว (Gait or Motion analysis) เพื่อช่วยในการประเมิน และ ปรับปรุงท่าทางการเดินและวิ่ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
บทความที่แล้วทางอินดี้ได้แนะนำการใช้ น้ำเกลือเพื่อลดอาการภูมิแพ้อากาศ สามารถไปอ่านต่อได้ที่ วิธีล้างโพรงจมูก ลดอาการภูมิแพ้ รู้ไหมการออกมาวิ่งช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้ด้วย สุขภาพแข็งแรงด้วยการวิ่ง