Thursday, 21 November 2024

สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร

สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร

สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น ที่มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย (แผนโบราณ) ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอ และ แก้เจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว

ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกันอย่างแพร่หลาย มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี ในปี พ.ศ.2555 ได้มีข้อมูลงานวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่ และ ความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และ อาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้

ในมุมมองการเกิดโรค หรือ อาการตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นอิทธิพลของธาตุไฟที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เราจึงสามารถใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น (สมุนไพรฟ้าทะลายโจร) เพื่อใช้ในการรักษาอาการที่ส่งผลมาจากอิทธิพลของไฟที่เพิ่มขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือ ใช้ความเย็น ปรับ หรือ ลดปริมาณความร้อนในร่างกายให้สมดุลนั่นเอง แต่หากใช้ในปริมาณเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลทำให้ ร่างกายมีปริมาณความเย็นเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้ เช่น อาการชาต่างร่างกาย แขน-ขาอ่อนแรง ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย หรือ ผื่นแพ้ตามร่างกาย เป็นต้น

รายละเอียดและ สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees
ชื่อสามัญ : Kariyat , The Creat
วงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่น : หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :ไม้ล้มลุก สูง 30-70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่ง และ ซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :  ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้เมื่อต้นมีอายุได้ 3-5 เดือน

คำแนะนำ และ สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร

  • แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • ระงับอาการอักเสบ  พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
  • แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และ แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
  • เป็นยาขมเจริญอาหาร และ การที่ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณ 4 ประการนี้ จึงชวนให้เห็นว่า ตัวยาต้นนี้ เป็นยาที่สามารถนำไปใช้กว้างขวางมาก จากเหตุผลที่ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ ระงับการติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้
ฟ้าทลายโจรแก้เจ็บคอ

ขนาดและวิธีใช้

  • รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และ ก่อนนอน
  • ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน ใช้ใบ และ กิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
  • ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้ ใช้ทั้งต้น หรือ ส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ (หนักประมาณ 3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ ฟ้าทะลายโจร
  • ห้ามใช้ ในหญิงตั้งครรภ์ และ ให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้

คำเตือน

  • หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชา หรือ อ่อนแรง
  • หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และ พบแพทย์
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และ CYP3A4

อาการไม่พึงประสงค์

  • อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และ อาจเกิดลมพิษได้

สรรพคุณยาฟ้าทลายโจร กับ ไวรัสโควิด-19

ฟ้าทลายโจรอภัยภูเบศ

สธ. เผยผลการวิจัยฟ้าทะลายโจรมีผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในหลอดทดลอง แนะกินทันทีเมื่อมีไข้ ไม่แนะนำให้กินเพื่อป้องกัน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และ การแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการวิจัยฟ้าทะลายโจรกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ องค์การเภสัชกรรม

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และ ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค โดยที่ยังไม่มีอาการเพราะไม่มีผลในการป้องกัน แต่ให้รับประทานทันทีเมื่อเริ่มมีอาการคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือ ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจอื่น รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (ครั้งละประมาณ 1,500 มิลลิกรัม) หลังอาหาร และ ก่อนนอน

ส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล เพื่อให้ได้รับสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 20 มิลลิกรัม ต่อครั้ง วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานยาทั้งสองแบบในขนาดที่แนะนำ จะให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ประมาณ 60 มิลลิกรัม ต่อวัน แนะนำให้มียาฟ้าทะลายโจรเป็นยาประจำตัว หรือ ยาสามัญประจำบ้าน อาจใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์

นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการทดลองในคน กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ องค์การเภสัชกรรม ศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ระดับความรุนแรงน้อย ในระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2563 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอกับความต้องการ โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ 65 ไร่ ให้ได้วัตถุดิบ 50,000 กิโลกรัม สำรองไว้ 1 ล้านแคปซูลสำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และ ประสานภาคธุรกิจเตรียมการผลิตเพิ่ม

ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์ และ ให้นมบุตร และ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันที และ ไม่ใช้อีก รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และ การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรือ อ่อนแรง สอบถามรายละเอียดที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ โทร. 0 2149 5678 หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th

ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาศึกษาฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง โดยทำการศึกษาจากสารสกัดหยาบเทียบกับแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่เป็นสารสำคัญ พบว่า กลไกต้านไวรัสโควิด-19 สามารถทำลายไวรัสโดยตรง และ ต้านไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่ช่วยยับยั้งไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค และ จำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป


เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save