สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน การดูแลรักษาตัวของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานยาตามคำแนะนำหมอ และ ควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกทานอาหารที่ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด อย่างสมุนไพรของไทยหลายๆชนิด ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ และ ที่สำคัญหาง่าย โดยสมุนไพรหลายๆชนิดมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด โดยทางอินดี้จะยกตัวอย่างสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมีรายละเอียดดังนี้
สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน มีอะไรบ้าง
การใช้สมุนไพรหลายชนิดร่วมกัน แต่ละสมุนไพรต่างออกฤทธิ์แตกต่างกันเพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือด จะสามารถช่วยควบคุมเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสมุนไพรเดี่ยว และ ดีกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว
ใบหม่อน สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน
ใบหม่อน มีผลลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน และ สามารถใช้ในคนปกติได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อรับประทานในระยะยาว
ข้อมูลทั่วไป : หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE) มีชื่อสามัญ Mulberry tree, White Mulberry
การรับประทานใบหม่อนวันละ 1 กรัม ในรูปผงแห้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 27%
การที่ใบหม่อนมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจาก หม่อนมีสารสำคัญที่ชื่อ Fagomine ซึ่งสามารถกระตุ้นการหลั่งของ Insulin นอกจากนี้สารสำคัญจากใบ และ รากของหม่อนยังสามารถขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ α-glucosidase ซึ่งทำหน้าที่ในการย่อยคาร์โบไฮเดรต เมื่อเอนไซม์ถูกขัดขวาง กระบวนการย่อยแป้งให้ได้กลูโคสจะช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารลดลง นอกจากนี้ การศึกษาประสิทธิผลการใช้สารสกัดใบหม่อน โดยเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รับประทาน สารสกัดใบหม่อน 125, 250, 500 มก. พบว่าสารสกัดใบหม่อนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากรับประทาน maltodextrin มีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ มีการศึกษาในหนูทดลองอายุ 8 สัปดาห์ เพื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน และ กึ่งเรื้อรัง โดยให้หนูทดลองรับประทานผลหม่อน ซึ่งผลกรศึกษา พบว่า ไม่เกิดพิษ ทั้งในแบบความเป็นพิษเฉียบพลัน และ กึ่งเรื้อรัง
เจียวกู่หลาน สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน
เจียวกู่หลาน หรือ ปัญจขันธ์ เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมัน และ ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาทั้งในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง และ ในมนุษย์ พบว่าเจียวกู่หลานมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านทางหลายกลไก เช่น การยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวกับกระบวนการเมทาบอลิซึมของกลูโคส การกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน การเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไป : เจียวกู่หลาน หรือ ปัญจขันธ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino มีชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ คือ Miracle grass, Southern ginseng, 5-Leaf ginseng, Gynostemma, และ Penta tea จัดอยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง : มีรายงานวิจัยผลต้านโรคเบาหวานของชาเจียวกู่หลานในมนุษย์ โดยเป็นรายงานวิจัยต่อเนื่อง 3 งานวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่ง Huyen และ คณะ ได้เริ่มท้าการทดลองผลของชาเจียวกู่หลานในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในปี ค.ศ. 2010 โดยผู้ป่วยทุกคนถูกสุ่มเพื่อได้รับยาหลอก หรือ ผงชาเจียวกู่หลานขนาด 6 กรัมต่อวันนาน12 สัปดาห์ พร้อมกับได้รับข้อมูลเรื่องการออกกำลังกาย และ การรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย หลังจากการทดลองพบว่า
กลุ่มที่ได้รับชาเจียวกู่หลานมีปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มได้ที่รับยาหลอกประมาณสามเท่า ขณะที่ค่า HBA1C ในกลุ่มที่ได้รับชา มีค่าลดลง 2% ซึ่งมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 10 เท่า
นอกจากนี้ ยังไม่พบอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ อาการไม่พึงประสงค์โดยตรวจวัดจากค่าตับ และ ไต ต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทดสอบว่าชาเจียวกู่หลานสามารถเสริมฤทธิ์กับการให้ยาไกลคลาไซด์ (Gliclazide) ซึ่งเป็นยารักษาเบาหวานกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ได้ หรือ ไม่ โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่เคยได้รับยามาก่อนจะได้รับยาไกลคลาไซด์ขนาด 30 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 4 สัปดาห์ จากนั้นผู้ป่วยจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มหนึ่งจะได้ยาหลอก อีกกลุ่มจะได้รับชาขนาด 6 กรัมต่อวัน ต่อเนื่องอีก 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าหลังจาก 4 สัปดาห์ของการได้รับยาไกลคลาไซด์ ค่า Fasting plasma glucose (FPG) และ HbA1C ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ เมื่อผู้ป่วยได้รับชาเจียวกู่หลานเพิ่มเติมก็พบว่าค่า FPG และ HbA1C ลดลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
ผลการทดลองแสดงว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานสามารถใช้เสริมการรักษาโรคเบาหวานด้วยยาซัลโฟนิลยูเรียได้
นอกจากนี้ ชาเจียวกู่หลานยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยใช้การประเมินความไวต่ออินซูลินด้วยวิธี Somatostatin-insulin-glucose infusion test (SIGIT) ผู้ป่วยถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ กลุ่มที่ได้รับชาเจียวกู่หลาน 6 กรัมต่อวัน นาน 4 สัปดาห์ จากนั้นหยุด 2 สัปดาห์เพื่อทำการสลับการให้ยากับทั้งสองกลุ่ม พบว่าค่า FPG และ ค่า SIGIT ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่ได้รับชาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ เมื่อทำการสลับการรักษาพบว่ากลุ่มที่สลับไปได้รับชาเจียวกู่หลาน มีค่า FPG และ ค่า SIGIT ลดลงโดยไม่มีผลต่อระดับ อินซูลินในพลาสมา นอกจากนี้ ยังไม่พบความผิดปกติของร่างกาย น้ำหนักตัว หรือ ความดันเลือด และ ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ จากรายงานวิจัยทั้งสามเรื่องนี้ จะเห็นว่าสมุนไพรเจียวกู่หลานน่าจะช่วยเสริมการรักษาโรคเบาหวานได้อย่างปลอดภัย
เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสารสำคัญทางยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ คือ สารประกอบที่อยู่ในกลุ่มของ โพลีแซ็กคาไรด์ ได้แก่ กาโนเดอแรน เอ บี และ ซี (Ganoderans A, B, C) ช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือด โดยกระตุ้นการสร้างอินซูลิน
ข้อมูลทั่วไป : เห็ดหลินจือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ganoderma lucidum (Curtis) P. Karst จัดอยู่ในวงศ์ GANODERMATACEAE มีชื่อสามัญ Lingzhi mushroom, Reishi mushroom
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง : สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในเห็ดหลินจือ คือ สารกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์(triterpenoids) และ สารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharides) มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยา การศึกษาทางคลินิก และ การทดสอบความเป็นพิษ ดังนี้ การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (Lin, Zhang, 2004; Nonaka et al, 2006; Zhu et al, 2007; Ma et al, 2008) ต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก และ มะเร็ง (Lin, Zhang, 2004; Gao et al, 2005; Zhang et al, 2007; Li et al, 2008) ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม (Zhao et al, 2003; Zhu et al, 2005; Chen et al, 2007; Fatmawati, 2009)
ต้านออกซิเดชัน (You, Lin, 2003; Wang et al, 2008; Wu, Wang, 2009) และ ต้านการอักเสบ (Ho et al, 2007; Ko et al, 2008) การศึกษาทางคลินิก พบว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด (Gao, Tang et al, 2005) ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Chen et al,2006) และ ผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม (Gao et al, 2003) มีฤทธิ์ระงับปวด และ มีความปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (Li et al, 2007) รักษาผู้ป่วยโรคประสาทเปลี้ย (Tang et al, 2005) โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (Noguchi et al, 2008; Noguchi, Yamada et al, 2008) และ อาการปวดหลังจากโรคงูสวัด (Hijikata et al, 2005) การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเห็ดหลินจือมีความเป็นพิษต่ำมาก และ มีความปลอดภัยในการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีรายงานว่า LD 50 ของยาเตรียมหลินจือไซรับเมื่อให้ทางปากมีค่าท่ากับ 69.6 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ในหนูถีบจักร และ LD 50 มีค่าเท่ากับ 4 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ในกระต่าย (Zhao, 2004) เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากเห็ดหลินจือแก่หนูขาวทางปากในขนาด 1.2 -12 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกัน 30 วัน ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต การทำงานของตับ ไต และหัวใจ (Lin, 1999)
มะระขี้นก
ในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน และ มีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน ได้แก่ เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็ก และ ยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส
ข้อมูลทั่วไป : มะระขี้นก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Momordica charantia (MC) อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่อเรียกอื่นๆเป็นชื่อสามัญด้วยเช่น bitter melon, papilla, bitter gourd, salsaminocorrila และ karela เป็นต้น
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง : มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถลดระดับกลูโคสในเลือดได้ร้อยละ 10-16 และ ร้อยละ 6 ภายใน 1 ชม. และ 2 ชม. ตามลำดับ และ ร้อยละ 26 ในหนูที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานจากด้วย streptozotocin และนอกจากนี้ พบว่า สารสกัดได้เพิ่มปริมาณการสังเคราะห์ glycogen ในตับของหนูปกติ 4-5 เท่า แสดงให้เห็นว่า สารสกัดมีส่วนในการเร่งการใช้ glucose ในตับของหนูปกติ และ ในหนูที่เป็นโรคเบาหวานนั้น สารสกัดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ร้อยละ 50 หลังจากการฉีดสารสกัด 5 ชม. โดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของ INSULIN
ในเลือด แสดงให้เห็นว่า สารสกัดมะระขี้นกส่งเสริมให้มีการขับน้ำตาลกลูโคสออกนอกตับ นอกจากนี้เมื่อให้ทางปากในขนาด 0.5 ก./กก. พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งในหนูที่เป็นโรคเบาหวาน และ หนูปกติ นอกจากนี้งานวิจัยสนับสนุนการใช้สารสกัดมะระขี้นกในคน พบว่า มะระขี้นกมีสารประกอบที่มีโครงสร้างคล้าย Insulin เรียกว่า P-Insulin ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายคลึงกับ Insulin โดยสามารถออกฤทธิ์ภายใน 30-60 นาที เมื่อให้ทางปาก และ ให้ผลสูงสุดที่ระยะเวลา 4 ชั่วโมง
ผักเชียงดา
ในผักเชียงดาพบสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ gymnemic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก นอกจากนี้ gymnemic acid ยังกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง
ข้อมูลทั่วไป : ผักเชียงดา Gymnema inodorum (Lour.) Decne. หรือ ผักจินดา เป็นผักพื้นบ้านที่พบมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพืชในวงศ์ APOCYNACEAE
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง : การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครคนปกติที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน พบว่าเมื่อดื่มชาที่เชียงดา (มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล.) ทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในคนปกติ และ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ และ การรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน อย่างไรก็ตามเมื่อทำการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ดื่มชาที่เตรียมจากใบเชียงดาแห้ง 1.2 ก. ชงในน้ำร้อน 150 มล. วันละ 3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร 15 นาที ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง แต่กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวานของชาเชียงดาในผู้ที่เป็นเบาหวาน
จะเห็นได้ว่าการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดายังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน แต่ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น หรือ ในคนปกติที่ต้องการลดความเสี่ยงจากเบาหวาน
สมุนไพรในครัวที่เป็น สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน
พืชผักสวนครัวของไทย ผักที่เรากินในชีวิตประจำวัน ที่มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด หากเรากินสมุนไพรไปหลายชนิดก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เรามาทำความรู้จักสมุนไพร หรือ พีชผัก ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถลดน้ำตาลในเลือด แก้เบาหวานได้กันว่ามีอะไรบ้าง
- กล้วย ใช้ส่วนหัวปลี มาต้มน้ำกิน หรือ นำมาปรุงเป็นอาหาร
- กระเทียม สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ถึง 20% ให้กินวันละ 3-5 กลีบทุกวัน ควรกินร่วมกับอาหารอื่นเพราะมีรสเผ็ดร้อน ระคายเคืองกระเพาะ ซึ่งโดยปกติคนไทยเราใช้ประกอบอาหารเป็นประจำอยู่แล้ว และวิธีการใช้ของเราก็เป็นวิธีที่ทำให้เกิดสรรพคุณสูง คือ ตำสด สับละเอียด
- กระชาย ในตำรายาไทยใช้เป็นยาอายุวัฒนะที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ ช่วยขับลม เจริญอาหาร ช่วยให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหว สารสกัดเหง้ายับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยเฉพาะในลำไส้และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง แก้ปวดมวนในกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คั้นผสมน้ำผึ้งรวง บำรุงกำลัง รักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม
- ข้าว ส่วนที่ใช้เป็นยาได้แก่ รากข้าวและรำข้าว ในภาคอีสานใช้รากข้าวรักษาโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่า ในรากข้าวมีสารสำคัญคือ Oryzarans A, B, C และ D ซึ่งมีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้ ในที่นี้ยกตัวอย่างข้าว กข43 ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
- ขนุน ใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ นำมาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 15 นาที ดื่มเช้า-เย็นก่อนอาหาร ในประเทศศรีลังกา ทดลองสารสกัดจากใบขนุนด้วยน้ำร้อน ในคนเป็นเบาหวาน ใช้ขนาด 20 กรัม/กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ผลดีและพบว่า สารสกัดจากขนุนลดน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน และในเมล็ดมีแคลเซียมสูง
- ขิง ส่วนเหง้าใช้แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด แก้ไอ หอบ ขับปัสสาวะ แก้สะอึก ลดน้ำตาลในเลือด โดยใช้เหง้าขิงแก่สดคั้นน้ำให้ได้ครึ่งถ้วยต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 เวลา อาจเติมเกลือมะนาว หรือน้ำมะกรูดช่วยเพิ่มรสชาติหรือใช้ขิงผง 1-2 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มบ่อยๆ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ลดโคเลสเตอรอลในเลือด แก้ปวดไมเกรน แก้คลื่นไส้อาเจียน ป้องกันฟันผุ แก้ท้องเสีย ลดความดันโลหิต กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค
- คึ่นไช่ ทั้งต้นมีสรรพคุณ ขับระดูลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ แก้ปวดข้อ แก้อาเจียน ขับลม ใช้ต้มน้ำดื่มหรือคั้นสดดื่มก่อนอาหารหรือนำไปปรุงอาหาร ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม ลดโคเลสเตอรอล ต้านการอักเสบ ยับยั้งฟันผุ ต้านไวรัส เชื้อรา ยีสต์ พบสาร antihyperglycemic agent ซึ่งสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- ชะพลู ใช้ใบสดใส่น้ำพอท่วมต้มเดือดสักพัก ดื่มเป็นน้ำชา แต่ไม่ควรดื่มมากเพราะยานี้จะทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก อาจทำให้เวียนศีรษะ จึงควรปรุงเป็นอาหารร่วมกับอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จะช่วยให้ย่อยง่ายขึ้น เช่น แกงคั่วใบชะพลูปูซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านในหลายพื้นที่ของประเทศไทย หรือใช้เป็นใบห่อเมี่ยงคำ
- ตำลึง มีวิตามินเอและแคลเซียมสูง ใบแก่ ลดน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าใบอ่อน ใช้ใบแก่ 1 ถ้วย ปั่นกับน้ำเย็น 2 ถ้วย กรองเอาแต่น้ำดื่ม มีการศึกษาสารสกัดจากราก ใบ ผล เถาต้น ในหลายประเทศ พบมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและไม่พบพิษในการใช้
- ถั่วเขียว มีโปรตีนที่มีรูปร่างคล้ายอินซูลิน ออกฤทธิ์ทำให้อินซูลินในเลือดสูงขึ้น มีเพ็คตินเป็นใยอาหารช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล เมล็ดแก้ข้อขัด บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ลดไขมันในเลือด คนจีนจะดื่มน้ำต้มถั่วเขียว ที่ต้มพอเดือดเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ หรือนำมาปรุงอาหาร เช่น นึ่ง แล้วบดผสมหมูสับ ทอดหรือนึ่งใส่ขิงอ่อน หอมใหญ่
- ถั่วเหลือง มีเพ็คตินยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล มีโปรตีนที่ช่วยเพิ่มอินซูลินมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดโคเลสเตอรอล ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด
- ทับทิม นำเมล็ดทับทิมมากินสด หรือตากแห้งบดชงดื่มเช้าเย็นก่อนอาหาร มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดัน ยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ
- บัวบก ตามตำราอายุรเวทของอินเดียระบุว่า การกินใบบัวบกวันละ 2 ใบ ก็ยังทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ความจำดีขึ้นเพราะบัวบกช่วยบำรุงประสาทและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต การกินช่วยให้ความจำดีให้กินร่วมกับพริกไทยผงอัตรา 2:1 ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำอุ่นดื่มก่อนนอน
- ฝรั่ง มีวิตามินซีและเพ็คตินสูง ใบใช้ดับกลิ่นปาก ใบและผลสุกใช้ดับกลิ่นเหม็น
- พริกไทย ฤทธิ์ทางเภสัช ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ขยายหลอดเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะ ขับลม ย่อยอาหาร
- ฟ้าทะลายโจร ทั้งต้นลดน้ำตาลในเลือด ใช้ 1 กำมือ ต้มน้ำดื่มเช้าเย็นก่อนอาหาร แก้หวัดเจ็บคอ แก้ท้องเสีย ลดอักเสบ ลดความดันโลหิต คลายกล้ามเนื้อเรียบ รักษาแผลในกระเพาะ การทดสอบไม่พบความเป็นพิษ แต่เป็นยาเย็นจึงไม่ควรกินติดต่อนาน
- มะขามป้อม ใช้ผลสดตำคั้นนำผสมเกลือ ดื่มเช้าเย็น ลดน้ำตาลในเลือด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านพิษโลหะหนัก ต้านพิษที่เกิดกับตับ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และต้านไวรัส ผลสดเคี้ยว ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะ
- มะระ น้ำคั้นผลมะระลดน้ำตาลในเลือดและเป็นยาระบายอ่อนๆ อมแก้ปากเปื่อย มีสารช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน
- ว่านหางจระเข้ มีสารช่วยกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน วุ้นสดจากใบ ล้างยางออกแล้ว กินแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ใช้ทาแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทาผิวป้องกันแดดเผาและป้องกันผิวแห้ง และใช้ชโลมผมทำให้ผมเป็นเงางาม บำรุงรากผม รักษาแผลบนศีรษะ ถ้าใช้รักษาเบาหวาน ให้กินเนื้อวุ้นสดขนาด 2 x 2 นิ้ว วันละ 3 ครั้ง ระหว่างมื้ออาหาร
- สะตอ ฤทธิ์ทางเภสัช มีผลต่อความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรีย ลดน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- หญ้าหนวดแมว ชาวอินเดียใช้หญ้าหนวดแมวและฟ้าทะลายโจรอย่างละเท่ากัน ใส่น้ำพอท่วมต้มเดือด 10 นาที กินวันละ 1 – 1 แก้ววันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร กินแก้เบาหวาน ไม่ควรใช้ใบสด และไม่ควรใช้ร่วมกับแอสไพรินและผู้ป่วยโรคหัวใจ
- หอมแดง ใช้หัว ใบหรือต้นสด สรรพคุณขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด แก้หวัด คัดจมูก ช่วยลดน้ำตาลในเลือด น้ำหัวหอมใช้หยอดแก้ปวดหูใช้ดมแก้วิงเวียนเป็นลม
- หอมใหญ่ มีสรรพคุณเช่นเดียวกับกระเทียม กินเป็นประจำช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมัน โคเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยขับปัสสาวะ ขับพยาธิ ขับเสมหะ ทำให้ไข้หวัดหายเร็วขึ้น
โรคแทรกซ้อนผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย หากไม่คุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้ดี เช่น โรคความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอกเลือดสมอง ไตวาย อาการชา ปลายประสาทเสื่อม ตาพร่ามัว ต้อหิน ต้อกระจก ซึ่งโรคเหล่านี้มักเกิดคู่กับคนที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิต แพทย์จะให้ยามารับประทาน เพื่อประคองอาการ ดังนั้นการใช้ยาสมุนไพรจะช่วยได้มากในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
การเลือกใช้สมุนไพรเป็นตัวช่วยในการรักษาโรคเบาหวาน ถึงแม้จะเป็นอีกทางเลือก สำหรับผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องระวังสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลเป็นพิษต่อร่างกาย หากใช้งานไมม่ถูกต้อง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อน