Friday, 22 November 2024

สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง

08 May 2021
795
สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง

สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง โรคริดสีดวงทวารเป็นอาการยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ เป็นโรคเกี่ยวข้องกับระบบการขับถ่าย บางคนมีอาการเป็นน้อย บางคนมีอาาการเป็นรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะนั่งเฉยๆก็ยังทำได้ลำบากเลย ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมากแล้ว สามารถรักษาโรคริดสีดวงได้ง่ายดาย แต่ก็ยังมีการใช้สมุนไพรไทยที่รักษาอาการโรคริดสีดวงอยู่ วันนี้บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับ สมุนไพรไทยที่สามารถรักษาโรคริดสีดวงได้ ทางอินดี้ต้องย้ำก่อนนะว่าการรักษาด้วยสมุนไพรเป็นอีกทางเลือกของการรักษาเท่านั้น หากมีอาการของโรคหนักควรไปพบแพทย์รักษาดีที่สุด สำหรับความเห็นของอินดี้การรักษาด้วยการผ่าตัดดีที่สุด ส่วนเรื่องสมุนไพรก็เป็นอีกทางของการรักษา

อาการของโรคริดสีดวง

โรคริดสีดวงมีทั้งภายนอก และ ภายในอาจปรากฏให้เห็นต่างกัน จะมีอาการเกิดจากจากการขยายตัวของหลอดเลือดดำที่มีภาวะความดันสูง โดยผู้ป่วยริดสีดวงทวารจะมีอาการ

  • มีความผิดปกติในช่องท้อง จนเกิดอาการเจ็บๆ คันๆ
  • ในระยะแรก อาจสังเกตว่ามีเลือดติดกระดาษชำระหลังอุจจาระ หรือ เคลือบอุจจาระออกมา และ จะเพิ่มเป็นอาการเจ็บปวดในระยะหลัง
  • เมื่อมีก้อนริดสีดวงโป่งพองโผล่ออกมาขณะอุจจาระ หรือ อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกขณะ หรือ หลังถ่ายอุจจาระได้ เนื่องจากการเสียดสีระหว่างอุจจาระกับเส้นเลือดที่โป่งพอง
  • อาจมีอาการเจ็บปวด และ มีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น เวียนหัว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • มักจะพบได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ดังนั้นผู้ที่มีอาการควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แต่มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมนูนเนื่องจากสาเหตุต่างๆหลายอย่าง เช่น

  • การเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน
  • โรคท้องผูก ขับถ่ายลำบาก
  • ใช้ยาสวนอุจจาระ หรือ ยาระบายบ่อย
  • การตั้งครรภ์
  • น้ำหนักเกิน
  • การทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  • ไอเรื้อรัง
  • นอกจากนี้ยังพบอีกว่าโรคในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากโต ก็มีผลกระทบต่อหลอดเลือดดำที่ทวารหนักด้วย

หากเป็นขั้นรุนแรง หรือ อาการของโรคส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะมีการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม คือ การฉีดยา เพื่อให้หลอดเลือดเกิดการตีบ และ หดตัวกลับเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดเล็กน้อยขณะฉีดยา การใช้ยางรัด เพื่อตัดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้เกิดการฝ่อ และ แห้งของริดสีดวงทวารภายใน 1 สัปดาห์ การจี้ริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ อินฟราเรด หรือ เครื่องจี้ไฟฟ้า เป็นการใช้ความร้อน หรือ เลเซอร์จี้ไปที่หัวริดสีดวงทวาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษา และ การผ่าตัด เป็นวิธีใช้การรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะรุนแรง

บทความที่แล้วทางอินดี้ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรไทยในการ รักษาโรคเบาหวาน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน หรือ บทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรไทยรักษามะเร็ง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สมุนไพรไทยรักษามะเร็ง

สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง แนวทางรักษา

การรักษาริดสีดวงทวารด้วยสมุนไพรไทย เป็นวิธีที่ทางการแพทย์แผนไทยนิยมมากที่สุด โดยหลักการ คือ การเลือกใช้สมุนไพรรักษาที่ต้นเหตุของโรค ภายใต้หลักการรักษาความสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย

  • ริดสีดวงทวารที่เกิดจากธาตุไฟ มัมมีอาการอักเสบ มีเลือดออกที่หัวริดสีดวง รู้สึกร้อนวูบวาบตามตัว เกิดจากการรับประทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เสียน้ำมาก กินน้ำน้อย
  • ริดสีดวงที่เกิดจากธาตุลม มีลักษณะแห้ง และ เย็น มีอาการปวดไม่เฉพาะ ไม่ปวดบริเวณที่เป็น แต่จะปวดหลัง ปวดท้อง ปวดฉี่ มีอาการแปรปรวน เคลียด วิตกกังวล โดยทั่วไปหัวริดสีดวงไม่อีกเสบ ไม่มีเลือดออก มักเจอในผู้สูงอายุ
  • ริดสีดวงที่เกิดจากธาตุน้ำ มักเกิดในคนอ้วน ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หัวริดสีดวงจะนิ่มโผล่ออกมามาก มีมูกปนมากับอุจจาระ

สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง

การใช้งานสมุนไพรไทยในการรักษา วันนี้จะยกตัวอย่างสมุนไพร 5 ชนิดที่เป็นตัวยายอดฮิตในการใช้สมุนไพร ที่เป็นทางเลือกในการรักษาโรคกันว่ามีอะไรบ้าง

เพชรสังฆาต สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง

สมุนไพรไทยรักษาริดสีดวง

ไม้เถาเลื้อย เปลือกเถาเรียบ เถาอ่อนรูปสี่เหลี่ยมเป็นครีบ เป็นข้อๆต่อกัน เห็นข้อปล้องชัดเจน ลักษณะเป็นปล้องๆ ตรงข้อเล็กรัดตัวลง แต่ละข้อยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร บางข้ออาจมีรากออกมาด้วย มีมือเกาะออกตรงข้อต่อตรงข้ามกับใบ ตามข้อมียางขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกตามข้อต้น ข้อละ 1 ใบ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กลมหนา เล็ก ผิวเรียบ ปลายใบมน โคนใบเว้า หลังใบ และ ท้องใบเรียบเป็นมัน ขอบใบหยักมนห่างๆหรือหยักเว้า 3-5 หยัก  เนื้อใบนิ่ม ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ออกตามข้อต้นตรงข้ามกับใบ ดอกกลมเล็กสีแดงเขียวเป็นช่อขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยสีเขียวอ่อน มีขนาด 2.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนกลีบดอกด้านนอกมีสีแดง ส่วนกลีบดอกด้านในสีเขียวอ่อน เมื่อบานเต็มที่ดอกจะงองุ้มไปทางด้านล่าง เกสรตัวผู้มี 4 อันวางตรงกับกลีบดอก ผลสดรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ฉ่ำน้ำ  ผลกลมขนาด 4-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียว พอสุกเป็นสีแดงหรือดำ  เมล็ดกลมสีน้ำตาลมี 1 เมล็ด ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

ประโยชน์ของเพชรสังฆาต ที่โดดเด่นก็คงหนีไม่พ้นการใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยมีงานวิจัยของ พญ. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ และ คณะ ได้ประเมินประสิทธิภาพของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจำนวน 121 คน เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันอย่างดาฟลอน (Daflon) โดยผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของการประเมินผลของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับยาดาฟลอนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ ที่สำคัญยังพบว่าค่าใช้จ่ายของยาแคปซูลเพชรสังฆาตถูกกว่ายาดาฟลอนถึง 20 เท่าอีกด้วย ผลการวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าแคปซูลเพชรสังฆาตสามารถใช้ทดแทนยาดาฟลอนในการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี

แต่สรรพคุณในการรักษาริดสีดวงของสมุนไพรเพชรสังฆาตใช่ว่าจะรักษาริดสีดวงได้หายขาดเสมอไป การจะหายช้า หรือ เร็วก็ยังขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมาก หรือ น้อยแค่ไหนด้วย รวมไปถึงนิสัยการรับประทานอาหาร การดูแลตัวเองด้วยว่าคุณหมั่นรับประทานผัก หรือ อาหารที่มีเส้นใยมากน้อยแค่ไหน และ สำหรับผู้ที่เป็นมากในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเพชรสังฆาต หรือ ยาดาฟลอนก็ช่วยแค่บรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ต้องผ่าตัดอย่างเดียว

อัคคีทวาร

สมุนไพรไทยแก้ริดสีดวง

จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงและจะแยกเป็นช่อ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม ตามกิ่งอ่อน และ ยอดอ่อนเป็นเหลี่ยม เปลือกมีรูสีขาว และ มีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบความชื้น และ แสงแดดปานกลาง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ประเทศปากีสถาน อินเดีย พม่า จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าเต็งรัง และ ป่าเบญจพรรณที่เปิด และ ค่อนข้างชื้น ที่ระดับความสูงจาดระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร

ส่วนการใช้อัคคีทวาร รักษาโรคริดสีดวงทวารหนักนั้น การแพทย์พื้นบ้านของไทยระบุว่า ทำได้หลายวิธี ได้แก่ ใช้ต้นหรือรากยาว 1-2 ข้อนิ้ว ฝนกับน้ำปูนใส ทาที่ริดสีดวงโดยตรง หรือ ใช้ใบแห้งบดเป็นผงคลุกน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด กินติดต่อกัน 7-10 วัน หรือใช้ใบป่นเป็นผงโรยในถ่านไฟ ใช้ควันรมให้หัวริดสีดวงยุบฝ่อ

อัคคีทวารใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนักได้ผลดีจริงหรือไม่ คงเป็นเรื่อง ลางเนื้อชอบลางยา คนนึงว่าดี อีกคนว่าไม่เหมาะ ที่สำคัญต้องเอาใจใส่เรื่องกินเรื่องถ่ายให้ถูกต้อง

ครอบฟันสี

สมุนไพรไทยแก้ริดสีดวง

ครอบฟันสีจัดเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สูง 0.5-2.5 เมตร มีขนอ่อนนุ่มสีเทาปกคลุมทั่วไป ใบ ออกแบบเรื่องสลับกัน ก้านใบยาว ตัวใบลักษณะกลม ปลายใบแหลมสั้นฐานใบเว้าคล้ายหัวใจยาว 3-9 เซนติเมตร กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ขอบใบมีรอยหยักรูปฟัน มีขนนุ่มสีเทาปกคลุมทั้ง 2 ด้าน

ดอก ออกจากซอกก้านใบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง2-2.5เซนติเมตร ก้านดอกยาว ทางใกล้โคนดอกไม้มีรอยเป็นข้อ 1 รอย กลีบเลี้ยงติดกัน บานออกคล้ายจาน มีรอยแยกฉีกๆ แบ่งออกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบปลายแหลมสั้นๆ มีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทา ปกคลุมด้านนอกกลีบดอกมี 5 กลีบ ตัวผู้มีจำนวนมากติดกันที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ รังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นของดอกทั้งหมด ผนังรังไข่เป็นกลีบเรียง ติดกันรอบๆ เป็นรังสีทรงกลม

ผล เป็นกลีบๆ เรียงติดกันคล้ายฟันเฟืองข้าว มี 15-20 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายนอกมีขนสั้นๆ ปกคลุมอยู่

เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต มีขนสั้น ๆ โดยในเมล็ดจะมีไขมันอยู่ประมาณ 5%

ในอดีตมีการใช้เปลือกต้นที่มีเส้นใยเหนียวและมีความแข็งแรง โดยนำมาใช้ปั่นเป็นเชือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะเป็นการทำใช้งานกันเองภายในครัวเรือน ไม่มีการทำเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการนำครอบฟันสีมาใช้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ การนำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพร โดยมีสรรพคุณตามตำรายาไทย ดังนี้ ทั้งต้นรสชุ่ม สุขุม ไม่มีพิษ ช่วยทำให้เลือดไหลหมุนเวียนดี ขับลม ขับเลือดร้อน แก้ท้องร่วง หูอื้อ หูหนวก แผลบวม เป็นหนอง โรคเรื้อน ปัสสาวะขัด เจ็บขุ่น คางทูม ราก รสจืด ชุ่ม เย็น ใช้แก้ร้อน ชื้น ฟอกเลือด แก้ไอ หูหนวก หูชั้นกลางอักเสบ เหงือกอักเสบ คอตีบ ปวดท้อง ท้องร่วง ริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ เมล็ด ใช้แก้บิดมูกเลือด ฝีฝักบัว ใบ รสขมร้อนมัน บ่มฝีหนองให้แตกเร็ว แก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ ล้างแผล ช่วยย่อยเจริญอาหาร ดอก รสขม ฟอกลำไส้ บ่มฝีหนอง ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย รักษาลำไส้อักเสบ เปลือก ขับปัสสาวะ 

ส่วนในอินเดียจะใช้ยาชงจากรากเป็นยาแก้อาการขัดเบาเป็นเลือด และยังระบุด้วยว่ารากและเปลือกนั้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ และยังใช้ดอกและใบ นำมาพอกรักษาฝีและแผลเรื้อรังต่าง ๆ  ส่วนฟิลิปปินส์ใช้ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลและแผลเรื้อรังชนิดต่าง ๆ

เหงือกปลาหมอ

สมุนไพรไทยแก้ริดสีดวง

 ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง สีขาวอมเขียว มีหนามตามข้อ ข้อละ 4 หนาม และที่ปลายใบ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ใบรูปหอกยาว ขอบจักเว้ากว้างๆ ปลายจักแหลมคล้ายหนาม แต่บางครั้งอาจพบใบเรียบ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวเข้ม เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา มีหนามรอบใบ แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น เนื้อใบเหนียว ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อตั้งสีขาว บริเวณปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ใบประกอบห่อเป็นช่อตั้ง แต่ละดอกมีใบประดับรูปเรียว 2 อัน รองรับที่โคนดอก และติดอยู่จนดอกบาน กลีบดอกเป็นท่อปลายบานโตสีขาว ยาว 2-4 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ปาก ปากล่างมีขนาดใหญ่กว่า ปากล่างสีม่วงอ่อนหรือฟ้าอ่อน มีแถบสีเหลืองตรงกลางกลีบ ปากบนหดสั้น กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ ผลเป็นฝักกลมรี รูปไข่ ยาว 2-3 เซนติเมตร เปลือกสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ผิวเปลือกสีน้ำตาล ข้างในมีเมล็ดขนาดเล็ก 4 เมล็ด พบตามป่าชายเลน หรือดินเค็มแถบภาคอีสาน

ตำรายาไทย  ใช้  ใบ รสเค็มกร่อยร้อน ตัดรากฝีภายใน และภายนอกทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย ปรุงกับฟ้าทะลายโจร รมหัวริดสีดวงทวาร คั้นน้ำจากใบทาศีรษะ ช่วยบำรุงรักษารากผม แก้ประดง ใบเป็นยาอายุวัฒนะโดยปรุงรวมกับพริกไทย ในอัตราส่วน 2:1 บดทำเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 1-2 เม็ด  ใบสด นำมาต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ลมพิษฝี แก้ฝีทราง หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกงูกัด พอกฝี และแผลอักเสบ ต้นและเมล็ด มีรสเผ็ดร้อน รักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย เมล็ด เป็นยาขับพยาธิ เมล็ดผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย และน้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ขับเลือด หรือใช้เมล็ดคั่วให้เกรียม นำมาป่นให้ละเอียดชงกินกับน้ำ เป็นยาแก้ฝี ทั้งต้น มีรสเค็มกร่อย ทั้งต้นสด รักษาโรคผิวหนังจำพวกพุพอง น้ำเหลืองเสีย ใช้ 3-4 ต้น หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำอาบหรือชะล้างบาดแผลเรื้อรัง และผื่นคันตามร่างกาย ต้มรับประทานแก้พิษฝีดาษ พิษฝีภายใน ตัดรากฝีทั้งปวง แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มอาบ แก้พิษไข้หัว แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ตำพอก ปิดหัวฝี แผลเรื้อรัง คั้นเอาน้ำทาศีรษะบำรุงรากผม ราก ใช้รากสด นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคงูสวัด

ขลู่

สมุนไพรไทยแก้ริดสีดวง

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือเขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม ใบเดี่ยว ออกแบบสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามซอกใบ รูปกลม หลายๆช่อมารวมกัน ดอกเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบดอกแบ่งออกเป็นวงนอกกับวงใน กลีบดอกวงนอกสั้นกว่าวงใน กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ดอกวงนอกกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ดอกวงใน กลีบดอกจะเป็นรูปท่อมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟัน ประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก อับเรณูตรงโคนเป็นรูปหัวลูกศรสั้นๆ เกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉกสั้นๆ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอกย่อย ริ้วประดับมีลักษณะแข็ง สีเขียว และเรียงกันประมาณ 6-7 วง วงนอกเป็นรูปไข่ วงในคล้ายรูปหอกแคบ ปลายแหลม ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก รูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลเป็นสัน มีขนาดเล็กมาก มีเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม ยอดมีรสมันใช้รับประทานเป็นผักสด พบชอบขึ้นตามธารน้ำ ที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะที่ที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มได้ ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา

ตำรายาไทย ใช้ ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ขับนิ่ว นำใบสดแก่ นำมาตำแล้วบีบเอาน้ำ ทาตรงหัวริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงหดหายไป แก้กระษัย ยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ นำใบมาตำผสมกับเกลือกินรักษากลิ่นปาก และระงับกลิ่นตัว นำใบมาต้มดื่มแทนชาลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด น้ำคั้นจากใบสดรักษาริดสีดวงทวาร ใบต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน บำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร โรคบิด ใบและต้นอ่อน บรรเทาอาการปวดข้อ ในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง เปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นมวนบุหรี่สูบแก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส) ดอก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้นิ่ว ราก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้กระษัย ขับนิ่ว ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย แก้เบาหวาน รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ต้มอาบ แก้ผื่นคัน แก้ประดง เลือดลม และแก้โรคผิวหนัง เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขูดเอาขนออกให้สะอาด ลอกเอาแต่เปลือก หั่นเป็นเส้นมวนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก หรือต้มรมริดสีดวงทวารหนัก


เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save