วีตาลิค บูเจริน จากเด็กติดเกมสู่มหาเศรษฐีอายุน้อยผู้ก่อตั้ง ‘อีเทอเรียม’ ในวัยเพียง 19 ปี ในโลกซื้อขายเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) อีเทอเรียม (ethereum) คือ เครือข่ายบล็อกเชน (blockchain) ที่เป็นเจ้าของเงินดิจิทัลสกุล อีเทอร์ (ETH) ซึ่งมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบิตคอยน์ (BTC) เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากผู้ก่อตั้งบิตคอยน์ คือ ซาโตชิ นากาโมโตะ เป็นบุคคลลึกลับที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน ผู้ให้กำเนิดอีเทอเรียม สกุลเงินอันดับ 2 ซึ่งไม่ใช่คนเก็บเนื้อเก็บตัว จึงเป็นที่จับตาในฐานะผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการคริปโตฯ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ผู้ทรงอิทธิพล’ ไม่ได้มาจากการเป็นแค่ผู้ก่อตั้งเครือข่ายคริปโตฯ ยอดนิยมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากมุมมอง ความคิด และ เส้นทางชีวิตของชายผู้นี้ด้วย
วีตาลิค บูเจริน กำเนิดผู้ก่อตั้ง ETH
อีเทอเรียม ก่อตั้งขึ้นโดยเด็กหนุ่มผิวขาวรูปร่างผอมสูง ท่าทางเก้ ๆ กัง ๆ นามว่า วิทาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) เขาเกิดวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1994 ที่เมืองโคลอมนา (Kolomna) ชานกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ตอนอายุ 6 ขวบ ครอบครัวตัดสินใจอพยพมาหางานทำที่ประเทศแคนาดา ทำให้วิทาลิกได้พบกับโลกใบใหม่ เขาเข้าเรียนโรงเรียนประถมฯ ที่แคนาดา และ ได้อยู่ห้องพิเศษ (Gifted) สำหรับเด็กเรียนเก่งตั้งแต่ชั้น ป.3 โดยวิชาที่เด็กน้อยจากรัสเซียผู้นี้สนใจเป็นพิเศษ คือ คณิตศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ เขาสามารถบวกเลข 3 หลักในหัวได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยที่เด็กวัยเดียวกันทำได้ถึงเท่าตัว วิทาลิกบอกว่า เขาได้เรียนรู้ และ มีพัฒนาการทางความคิดมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตระหว่างเข้าเรียนไฮสกูลที่โรงเรียน อเบอรัลด์ (Aberald) ในนครโทรอนโต ที่ซึ่งบ่มเพาะความกระหายในการเรียนรู้ให้กับเขาทั้งใน และ นอกห้องเรียน ตอนอายุ 13 ปี วิทาลิกเริ่มให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่าทำการบ้าน โดยเกมที่เขาติดจนงอมแงม คือ World of Warcraft (WoW) จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2010 ตัวละคร Warlock ที่เขาเล่นถูกผู้ผลิตเกมอัปเดตจนคุณสมบัติบางอย่างในตัวละครเปลี่ยนไป นั่น คือ จุดที่ทำให้เขาเสียใจจนนอนไม่หลับ และ ตัดสินใจเลิกเล่นเกมดังกล่าว พร้อมทั้งตระหนักว่า โลกที่มีการควบคุมรวมศูนย์อำนาจนั้นมันเลวร้ายเพียงใด
เริ่มรู้จักบิตคอยน์
วิทาลิกเริ่มรู้จักคริปโตฯ และ บิตคอยน์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ขณะมีอายุ 17 ปี โดย ดิมิทรี บูเทอริน บิดาของเขาซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คือ ผู้แนะนำเทคโนโลยีดังกล่าวให้รู้จัก ช่วงแรกที่รู้จักคริปโตฯ วิทาลิกยอมรับว่า เขาไม่คิดว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นเงินตราแห่งโลกอนาคต เพราะยังไม่เห็นคุณค่าที่จับต้องได้ แต่เมื่อได้ยินคนพูดถึงบ่อย ๆ เขาจึงเปลี่ยนใจหันมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม และ คิดว่ามันอาจเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ดีในอนาคต อีกเหตุผลที่ทำให้วิทาลิกสนใจบิตคอยน์ และ คริปโตฯ คือ การเป็นสกุลเงินที่ไม่มีผู้ใดควบคุม หรือ ผูกขาด (decentralized) ต่างจากเกม WoW ที่เคยทำให้เขาชอกช้ำใจมาในอดีต เขาเริ่มศึกษาบิตคอยน์ด้วยการอ่าน white paper หรือ เอกสารหลักเกณฑ์การทำงานของบิตคอยน์อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบิตคอยน์ และค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายบล็อกเชนจนทะลุปรุโปร่ง ด้วยความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเบื้องหลังบิตคอยน์ที่แตกฉาน แต่ยังไม่มีทุนทรัพย์พอในการขุดบิตคอยน์ (mining) หรือ เข้าไปลงทุนซื้อขาย วิทาลิกจึงเริ่มต้นด้วยการเป็นนักเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกบล็อกเชน เพื่อแลกกับค่าจ้างเป็นบิตคอยน์บทความละ 5 เหรียญ โดย 1 บิตคอยน์ขณะนั้นมีมูลค่าเพียง 0.8 เหรียญสหรัฐ “ผมยังเป็นเด็กไฮสกูลที่ไม่ค่อยมีเงินมากนักในตอนนั้น ผมคิดว่าได้ค่าจ้างคิดแล้วตกชั่วโมงละ 1.5 เหรียญสหรัฐ ก็น่าจะสมเหตุสมผลดีแล้ว” วิทาลิกเล่าย้อนอดีตสมัยเริ่มเขียนบทความ
หลังเป็นนักเขียนรับจ้างได้ไม่นาน ความสามารถของวิทาลิกไปเข้าตา มิไฮ อลิซี ผู้คลั่งไคล้บิตคอยน์จากโรมาเนีย ทั้งคู่จึงร่วมกันก่อตั้งนิตยสารบิตคอยน์ (Bitcoin Magazine) ขึ้นในปลายปี 2011 โดยวิทาลิกรับหน้าที่เป็นนักเขียนอาวุโส
เขารับงานนักเขียนหลักให้กับนิตยสารบิตคอยน์ ควบคู่ไปกับการหารายได้เสริมด้วยการเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับ เอียน โกลด์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสข้อมูล (cryptographer) ขณะเดียวกันก็ลงเรียนหลักสูตรชั้นสูง 5 วิชาที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) ไปพร้อมกัน
วีตาลิค บูเจริน กำเนิดอีเทอเรียม
หลังจากสั่งสมความรู้จนสุกงอม ปลายปี 2013 วิทาลิกในวัย 19 ปี เริ่มนำเสนอความคิดในการสร้างแพลตฟอร์มบล็อกเชน และ สกุลเงินดิจิทัลของตนเอง ด้วยการร่าง white paper เกี่ยวกับการสร้างอีเทอเรียม ส่งให้กับเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจคล้ายกัน
ชื่ออีเทอเรียม มาจากคำว่า อีเทอร์ (ether) ซึ่งในนวนิยายวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเป็นสสารตัวกลางที่มองไม่เห็นซึ่งช่วยทำให้แสงเคลื่อนที่ได้ และ กระจายอยู่ทั่วจักรวาล
ขณะที่บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเป็นเงินสกุลดิจิทัลเป็นหลัก แต่อีเทอเรียมในมุมมองของวิทาลิกต้องเป็นมากกว่านั้น โดยนอกจากจะมีเงินดิจิทัลแล้ว อีเทอเรียมยังเป็นระบบปฏิบัติการที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างแอปพลิเคชัน (decentralized applications) และ สัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) แบบไม่ต้องมีคนกลางคอยควบคุมดูแล
นอกจากนี้ อีเทอเรียมยังรองรับเทคโนโลยี decentralized finance (DeFi) ตลอดจนการซื้อขายงานศิลปะ และ สินทรัพย์ต่าง ๆ ในรูปดิจิทัล หรือ non-fungible tokens (NFTs) และ เป็นที่รับฝากสินทรัพย์เหล่านี้ รวมถึงเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ด้วย
โครงการอีเทอเรียมของวิทาลิก มีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบในเดือนมกราคม 2014 และ เริ่มระดมทุนด้วยการเปิดขายอีเทอร์เพื่อแลกกับบิตคอยน์ ได้เงินมาทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน วิทาลิกยังได้รับทุนอีก 100,000 เหรียญสหรัฐ จากกองทุนของปีเตอร์ ธีล (Thiel Fellowship) มหาเศรษฐีจากซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งมอบให้กับนักศึกษาที่มีความสามารถเพื่อสนับสนุนให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาเดินตามความฝันด้วยการ ‘สร้างสิ่งใหม่ ๆ แทนที่จะมัวนั่งอยู่แต่ในห้องเรียน’
หลังได้รับทุนจากปีเตอร์ ธีล และ ลาออกจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู วิทาลิกพร้อมด้วย มิไฮ อลิซี และ หุ้นส่วนอีกหลายคนร่วมกันเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนอีเทอเรียมแบบเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปี 2015 และ อีก 4 ปีต่อมา เขาได้เสนอแผนปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีความทันสมัยมากขึ้นภายใต้ชื่อ อีเทอเรียม 2.0
CNN รายงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 ว่า อีเทอเรียมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมูลค่าของอีเทอร์พุ่งมากกว่า 4 เท่าในปี 2021 และ ทำสถิติสูงสุดที่อีเทอร์ละ 3,500 เหรียญสหรัฐ หากคูณกับจำนวน 333,500 อีเทอร์โดยประมาณที่วิทาลิกครอบครองไว้ มูลค่าอีเทอร์ที่เขามีทั้งหมดจะมากกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ทำให้หนุ่มน้อยเชื้อสายรัสเซียผู้นี้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านขณะมีอายุเพียง 27 ปี
ผู้ทรงอิทธิพล
แม้อีเทอเรียมยังคงมีจุดอ่อนเหมือนคริปโตฯ สกุลอื่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการถูกแฮกข้อมูล ตลอดจนการกีดกันในบางประเทศ และ ความผันผวนของราคาอันเนื่องมาจากการเก็งกำไรกันทั่วโลก แต่วิทาลิกยังคงเชื่อว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน และ คริปโตฯ ยังคงมีอนาคตในฐานะตัวกลางทางเลือกสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน และ การลงทุน ความเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกคริปโตฯ ของวิทาลิก สะท้อนได้จากความสนใจของผู้คนจำนวนมากที่มาฟังหนุ่มน้อยชาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซียผู้นี้แสดงวิสัยทัศน์แทบทุกเวทีที่เขาเดินทางไปปรากฏตัว เขา คือ กูรูของสาวกบล็อกเชน และ วีรบุรุษของชาวรัสเซีย ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังยอมสละเวลามาสนทนาพูดคุย ความดังของเขายังทำให้ผู้ก่อตั้งชิบะอินุคอยน์ (SHIB) ซึ่งเป็น ‘มีมคอยน์’ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเสียดสี dogecoin (DOGE) ที่ อีลอน มัสก์ พยายามปั่นกระแส ตัดสินใจส่ง SHIB จำนวนครึ่งหนึ่งของที่มีทั้งหมดให้กับวิทาลิกแบบฟรี ๆ เพื่อโปรโมตเหรียญดังกล่าว แต่ด้วยความที่วิทาลิกไม่ต้องการเป็นผู้มีอำนาจควบคุมใด ๆ เขาจึงตัดสินใจเผา SHIB ร้อยละ 90 ที่ได้มาคิดเป็นมูลค่า 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐทิ้งไป ด้วยการส่งไปยังที่อยู่บล็อกเชนซึ่งตายแล้ว (dead blockchain address) เพื่อไม่ให้มีการนำมาซื้อขายในท้องตลาด ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จำนวน 50 ล้านล้าน SHIB (ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) นำไปบริจาคให้กับกองทุนบรรเทาทุกข์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดีย “ผมไม่อยากเป็นศูนย์กลางของอำนาจแบบนั้น” วิทาลิกกล่าวย้ำถึงเหตุผลของการไม่เก็บ SHIB ทั้งหมดที่ได้มาไว้กับตัว
ใจบุญสุนทาน
นอกจากจะบริจาค SHIB ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 ในอินเดียแล้ว วิทาลิกยังโอนเหรียญอีเทอร์จากแพลตฟอร์มอีเทอเรียมของตนเองคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ สมทบเข้ากองทุนเดียวกันด้วย ความเป็นคนใจบุญสุนทานของวิทาลิก ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังได้ SHIB จำนวนมหาศาลมาฟรี ๆ เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยบริจาคทรัพย์ให้กับองค์กรการกุศลมาตลอด โดยในปี 2017 วิทาลิกบริจาคอีเทอร์มูลค่า 763,970 เหรียญสหรัฐ ให้กับสถาบันวิจัยสมองกล เพื่อช่วยรับประกันว่าเทคโนโลยีเอไอจะไม่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ ส่วนปี 2018 เขาบริจาคอีเทอร์มูลค่า 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกองทุนวิจัยพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับผู้สูงวัย และ ในปี 2019 บริจาคเงินอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้มูลนิธิช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในยูกันดา
ดิมิทรี บูเทอริน พ่อของวิทาลิก กล่าวถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกชายให้กลายเป็นอัจฉริยะผู้ใจบุญแห่งโลกบล็อกเชนว่า วิทาลิกเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และ สามารถใช้โปรแกรม Excel คำนวณขั้นพื้นฐานได้ตั้งแต่ 3 ขวบ จากนั้นเขาจึงค่อย ๆ ให้ความรู้ด้านไอทีกับลูกชาย เพื่อให้เขาทั้งสนุก และ มีความอยากรู้อยากเห็นต่อไป
“ผมคิดว่าเด็กทุกคนมีความสามารถมากมาย หากคุณแค่ป้อนเขาในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้เขายังคงมีความอยากรู้อยากเห็นเสมอ และ ทำให้เขารู้สึกสนุก อย่าไปกดดันมากเกินไป
“ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่งเขาเริ่มเรียนเรื่องโปรแกรม ผมส่งเขาไปเรียนความรู้ด้านโปรแกรมสำหรับเด็ก วิธีการสอนของที่นั่นไม่ใช่แค่การบรรยายแบบเลคเชอร์ แต่ให้เด็ก ๆ ได้เล่นเกม ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นเพราะการได้สร้างเกมมันเจ๋งดี และ เขาก็ได้เรียนรู้มากมายจากสิ่งนั้น” ดิมิทรีเล่าถึงลูกชายในวัยเด็ก
ความอยากรู้อยากเห็นนำมาซึ่งการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ และ นำพาวิทาลิกเข้าสู่ชุมชนคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน จนพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแบ่งปันให้กับผู้อื่น
แม้ปัจจุบัน วิทาลิก บูเทอริน จะกลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อย และ เป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกคริปโตฯ แล้ว แต่ทัศนคติในการเรียนรู้ และ พัฒนาอย่างไม่รู้จบของเขายังคงไม่หายไป และ สะท้อนได้จากสิ่งที่เขาพูดและทำ
“สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นระบบใหม่ ยังเป็นแค่การทดลอง แต่มันก็ใกล้เป็นกระแสหลักเข้าไปทุกที”
วิทาลิกกล่าวไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เกี่ยวกับอีเทอเรียม และ ระบบคริปโตฯ ที่เขาลงทุนลงแรงสร้างขึ้นมา พร้อมกับเตือนบรรดานักเก็งกำไรทิ้งท้ายว่า
“ฟองสบู่คริปโตฯ ทำให้เกิดความโกลาหล มันขึ้น และ ลงรวดเร็วมาก ผมอยากเตือนผู้คนให้ระวัง อย่านำเงินไปลงทุนมากกว่าจำนวนที่คุณสามารถสูญเสียได้ อย่ากู้เงินมาซื้อคริปโตฯ ทุกสกุล รวมถึงอีเทอเรียมของผมด้วย”