ภาวะตัวเหลือง ในทารกแรกเกิดเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยพบได้ถึงร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิดครบกำหนด และ พบได้สูงถึงร้อยละ 80 ของทารกเกิดก่อนกำหนด การที่พ่อแม่รู้เท่าทันภาวะตัวเหลืองย่อมช่วยให้สามารถสังเกตอาการของลูก และ พบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความรุนแรงให้เจ้าตัวน้อยไม่ต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา
เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป และ มักไม่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่พบในเด็กแรกเกิดหรือ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยจะส่งผลให้ผิวหนัง และ ตาขาวของทารกมีสีเหลือง สาเหตุเกิดจากการมีสารบิลิรูบิน หรือ สารที่ให้สีเหลืองในเลือดสูงเกินไป เนื่องจากตับของเด็กแรกเกิดยังเจริญเติบโตไม่มากพอที่จะกำจัดสารบิลิรูบิน และ ขับออกทางลำไส้ใหญ่ได้ โดยมากภาวะนี้จะหายไปเองเมื่อตับของเด็กพัฒนาขึ้น แต่ทารกบางรายอาจมีภาวะตัวเหลืองมากกว่าปกติ (Pathologic Jaundice) ซึ่งระดับบิลิรูบินที่สูงมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองอย่างถาวร หรือ หากมีภาวะตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้ สามารถไปอ่านบทความ เล่าประสบการณ์ท้อง ลูกคนแรก
ทำไม? ลูกถึงเสี่ยงต่อ ภาวะตัวเหลือง
หลังจากคลอด ทารกจะมีเม็ดเลือดแดงสูง ทำให้มีอัตราการแตกตัวสูงตามไปด้วย ซึ่งการแตกตัวนี้ทำให้เกิดสารสีเหลืองชื่อบิลิรูบิน ทำให้ทารกตัวเหลืองอยู่ประมาณ 3-5 วัน จากนั้นจะค่อยๆจางหายไปเอง เมื่อสารบิลิรูบินถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และ อุจจาระ
การวินิจฉัย ภาวะตัวเหลือง
เด็กแรกคลอดทุกคนจะได้รับการวัดระดับของภาวะตัวเหลืองก่อนที่เด็กจะกลับบ้าน ด้วยอุปกรณ์วัดสีผิวโดยเฉพาะซึ่งเป็นวิธีใช้แสงที่ไม่ทำให้เจ็บปวด หากค่าที่วัดได้สูงจำเป็นต้องมีการตรวจเลือด เพื่อหาค่าความเข้มข้นที่แน่นอนของบิลิรูบิน ภายในวันแรกที่เด็กเกิดมาระดับความเข้มข้นจะมีค่าเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตรวจซ้ำบ่อย ๆ เพื่อติดตามอัตราที่เพิ่มขึ้น
อาการเด็กเป็น ภาวะตัวเหลือง
เด็กแรกเกิดมักเริ่มมีภาวะตัวเหลือง และ ตาเหลืองในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด โดยอาการเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และ อาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้
- ตาขาวเป็นสีเหลือง
- เหงือกเหลือง
- ฝ่ามือ หรือ ฝ่าเท้าเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี
- อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม
ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองที่รุนแรงอาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพ หรือ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการมีสารบิลิรูบินในเลือดมากเกินไปได้ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้
- มีไข้สูง
- ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
- แขน ขา และ ท้องเหลือง
- เซื่องซึม เฉื่อยชา
- ร้องไห้เสียงแหลม
- ตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์
- มีอาการอื่น ๆ ที่น่าวิตกกังวล
โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเหลืองผิดปกตินั้นแบ่งออกได้เป็น 5 ปัจจัย คือ
- ทารกที่คลอดโดยใช้เครื่องดูดช่วยคลอด จะทำให้มีเลือดออกที่ใต้หนังศรีษะ มีเลือดคั่งเฉพาะส่วน เพิ่มโอกาสให้การแตกตัวของเม็ดเลือดสูงขึ้น
- ภาวะกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันมักพบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือด O ส่วนลูกเป็น A หรือ B และ คู่ที่แม่มีเลือดหมู่ Rh- กับลูกที่มีเลือดหมู่ Rh+
- เป็นโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือ โรคขาดเอนไซน์ G6PD ซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
- การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ทำให้สารบิลิรูบินไม่ถูกขับ หรือ ขับช้ากว่าปกติ
- ความผิดปกติที่ลำไส้ อย่างเช่น เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้บิลิรูบินไม่ถูกขับออกไป แต่กลับโดนดูดซึมเข้ากระแสเลือดแทน
การรักษาอาการเด็กตัวเหลือง
- การส่องไฟ มีหลักการคือใช้พลังงานจากแสงที่มีคลื่นความถี่ใกล้เคียงกับแสงสีฟ้า และ สีเขียว ซึ่งจะเปลี่ยนสารสีเหลืองของบิลิรูบิน ให้ละลายน้ำได้ แล้วขับออกทางลำไส้ และ ปัสสาวะ ในทางปฏิบัติอาจใช้หลอดไฟนีออนสีขาว สีน้ำเงิน หรือ สีน้ำเงินพิเศษก็ได้ นอกจากนี้พลังงานแสงจากหลอดไฟ LED มักจะให้พลังงานได้มากกว่าหลอดนีออนทั่วไป และ ให้ความร้อนน้อย ปัจจุบันจึงมีผู้นิยมใช้มากขึ้น วิธีการส่องไฟ คือการให้ผิวหนังทารกมีโอกาสถูกแสงมากที่สุด แต่ต้องปิดตา เพื่อไม่ให้แสงทำอันตรายต่อประสาทตาของทารกได้ ระหว่างที่ส่องไฟทารกอาจมีถ่ายเหลวเล็กน้อย มีผื่นตามผิวหนัง และ สูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น ทารกจึงมักจะดูดนมเพิ่มขึ้นเองเพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีที่ลดสารสีเหลืองลงได้ทันที เพราะสารเหลืองที่อยู่ในเลือดจะลดลงทันทีภายหลังการเปลี่ยน แต่เนื่องจากสารสีเหลืองมีอยู่ในส่วนอื่นๆของร่างกายด้วย ร่างกายจึงต้องขับออกเองหรือใช้ไฟส่องร่วมด้วย เพื่อให้หายเหลืองเร็วขึ้น การเปลี่ยนถ่ายเลือดจึงจำเป็นเฉพาะทารกที่เหลืองจัด ไม่สามารถรอให้หายเหลืองจากการส่องไฟได้ ส่วนกรณีตัวเหลืองทั่วๆไป มักจะไม่จำเป็นต้องทำการถ่ายเลือด เนื่องจากจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าการส่องไฟ
การป้องกันไม่ให้ทารกตัวเหลือง
- ก่อนตั้งครรภ์ทั้งคุณพ่อ และ คุณแม่ต้องไปตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจเลือดหาความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งหากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น คุณหมอจะให้คำแนะนำในการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยให้กับคุณแม่ได้
- เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์กับคุณหมอตั้งแต่ไตรมาสแรก เพราะในการฝากครรภ์ คุณหมอจะทำการเจาะเลือดอีกครั้งเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ และ ยังจะทำให้ได้ทราบด้วยว่าคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่
- ในทารกแรกเกิด ควรให้ทารกได้ดูดนมแม่อย่างเร็วที่สุด ต้องให้ทารกดูดนมแม่10-12 ครั้ง/วัน เพราะจะทำให้ลำไส้ของทารกเคลื่อนตัวได้ดี ช่วยขับสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) ออกไปได้ดีด้วยเช่นกัน