Thursday, 21 November 2024

พัฒนาการ เด็กทารก 2 เดือน

พัฒนาการ เด็กทารก 2 เดือน โดยจะมีพัฒนาการต่าง ดังอธิบายในรายละเอียด ซึ่งทาง IndyDiary.com ก็ขอขอบพระคุณบทความจาก รักลูก ซึ่งเป็นบทความที่ดีมาก โดยรักลูกเค้าอธิบายเอาไว้ดังนี้ อ่านบทความเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกได้ที่ เลี้ยงลูก

พัฒนาการ เด็กทารก 2 เดือน

พัฒนาการ เด็กทารก 2 เดือน ร่างกายและการส่งเสริม

ลูกวัย 2 เดือนจะมีตัวหนักขึ้นจากเมื่อตอนอายุ 1 เดือนประมาณ 1 กิโลกรัม เริ่มบังคับศีรษะโงนเงนไปมาได้ สามารถเงยขึ้น 45 องศา เพื่อมองสิ่งแวดล้อมรอบๆ ได้ประมาณ 2-3 นาที ลูกจะกินนมเป็นเวลามากขึ้น ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อครั้ง เฉลี่ย 35 ออนซ์ต่อวัน และหากไม่ได้ดั่งใจก็จะแผดเสียงร้องลั่นบ้าน
เด็กบางคนอาจจะนอนหลับเพลินจนลืมเวลากินนม เพราะเมื่อมีอายุเลย 5 อาทิตย์แล้ว จะนอนตอนกลางคืนได้ยาวนานขึ้นรวดเดียวถึง 7 ชั่วโมง และในตอนกลางวันจะอยู่ในภาวะตื่นมากขึ้นเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน เด็กจะเริ่มเรียนรู้ร่างกายตนเอง ชอบถีบขายืดแขน หันหน้าหันหลังพลิกตัวไปมาอย่างสนุกสนาน ยิ่งหากมีคนอื่นๆ อยู่ด้วยเจ้าหนูจะโชว์ท่าทางเป็นพิเศษ

ด้านการมองเห็นในเดือนที่ 2 เลนส์ของตาจะปรับระยะตามความห่างของวัตถุ แต่ประสาทของตากับหูยังไม่สัมพันธ์กันมากนัก อาจจะไม่ค่อยหันตามเสียงแต่จะหันตามของเล่นสีสดใสหรือแสงวิบวับแทน อย่างไรก็ตามลูกจะชอบใบหน้าของคนมากกว่าสิ่งของอยู่ดี และการเรียนรู้ของลูกมักจะเป็นการเรียนรู้ด้วยปากและพอใจกับการได้ดูดนมหรือนำนิ้วเข้าปากมากกว่าเรียนรู้ด้วยสายตา พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารกวัย 2 เดือน ได้แก่

  • ตื่นนอนกลางวันราว 10 ชั่วโมง
  • แขนขายังกระตุก มีสะดุ้งตกใจบ้าง
  • การเคลื่อนไหวนุ่มนวลขึ้นกว่าเดือนแรก
  • เมื่อนอนคว่ำผงกศีรษะได้ 45 องศา แต่ได้เพียงชั่วครู่
  • เมื่อจับนั่งศีรษะจะตั้งขึ้นแต่โงนเงนอยู่
  • การหยิบฉวยจะเป็นตามคำสั่งสมองมากกว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับ
  • พยายามคว้าของและหยิบฉวยได้นาน 2-3 นาที
  • เริ่มมองเห็นว่าลูกมีความถนัดข้างใด
  • สามารถทำได้อย่างเดียวในเวลาเดียว
  • มองเงามือตนเองโดยคิดว่าเป็นสิ่งของ
  • มองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่เลื่อนลอย
  • มองตามแสง และเห็นภาพชัดในระยะ 7-8 นิ้ว

พัฒนาการ เด็กทารก 2 เดือน พัฒนาอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม

อารมณ์ของลูกจะเป็นเหตุผลมากขึ้น เช่น ร้องเพราะได้ยินเสียงดัง โกรธ โมโห หรือหิว เมื่อร้องไห้จะอาละวาดถีบขาและแกว่งแขนจนสั่นไปหมด อีกทั้งจะเริ่มสังเกตความเป็นตัวตนของลูกมากขึ้น เช่น เด็กนิสัยเรียบร้อยก็จะนิ่งๆ เงียบๆ หากเด็กนิสัยกระตือรือล้นก็จะซุกซนกว่าปกติ

เด็กบางคนก็จะมีชั่วโมงแห่งความหงุดหงิด โดยเฉพาะช่วงเย็นและช่วงค่ำ เขามักร้องไห้พร้อมกับกลั้นหายใจหรือเรียกว่า “ร้องดั้น” จนหน้าเปลี่ยนสี แม้จะให้นมหรือปลอบโยนก็มักจะหยุดเพียงชั่วครู่ แล้วก็จะร้องใหม่อีกครั้ง การร้องแบบนี้บ่งบอกถึงความไม่สบายใจและความไม่สบายกาย รู้สึกถึงความไม่สมดุลของระบบประสาทและร่างกายของตนเอง เมื่อลูกโตขึ้นก็จะคลายลง แต่ลูกก็สามารถทำให้ตนเองรู้สึกสงบลงได้ด้วยการดูดนิ้ว สำหรับช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดีที่สุดคือช่วงที่ลูกเพิ่งกินนมเสร็จประมาณครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง และมีปฏิกิริยาตอบโต้สูง

พ่อแม่ควรดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้ลูกอารมณ์ดี หลีกเลี่ยงเสียงดัง เปิดเพลงเบาๆ หรือแม้แต่การเล่นกับลูกบ่อยๆ ก็เป็นการพัฒนาพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้

พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม

ลูกน้อยยังใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสารหลัก เสียงส่วนใหญ่จะออกมาเป็นเสียงอ้อแอ้ คูๆ ไม่เหมือนเสียงพูดของผู้ใหญ่สักเท่าไรนัก แต่ว่าจะสนใจฟังเสียงต่างๆ และจดจำเสียงนั้นไว้ หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ลูกจะอ่านริมฝีปากและหัดพูดไปในตัวด้วย

พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม

เริ่มมองคนและส่งยิ้มหวานให้ และจะยิ้มเป็นพิเศษเมื่อคนๆ นั้นมักตอบสนองในทางบวกได้ เช่น เข้ามาคุยด้วย หรือเอานมมาให้ หรือแม้แต่พี่น้องที่เข้ามาเล่นซุกซนด้วยกันเขาก็จะรู้สึกอยากเล่นด้วย พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารกวัย 2 เดือน ได้แก่

  • เริ่มแสดงอารมณ์ หงุดหงิด ดีใจ ตื่นเต้น ยิ้มแย้ม
  • สงบอารมณ์ตัวเองด้วยการดูดนิ้ว
  • ตื่นตัวเวลามีคนจ้องมอง
  • หยุดฟังและจับจ้องใบหน้าคน
  • จะตื่นนานเมื่อมีคนมาเล่นด้วย
  • เมื่อมีคนพูดด้วยจะชะงักและทำหน้าตาว่าได้ยิน

พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม

ลูกจะยังไม่สามารถจดจำหน้าแม่หรือแยกใบหน้าแม่ออกจากกลุ่มคนได้ แต่เขาจะสามารถแยกแยะได้จากกลิ่นกายและลักษณะท่าทางการอุ้ม อีกทั้งหากคุณแม่ลองแตะรสชาติเค็ม เปรี้ยว หรือขม ที่ริมฝีปากลูก ลูกจะสามารถตอบสนองความไม่พอใจใจออกมาในรูปแบบปิดปาก สำลัก หน้าแดง ขบกราม แต่หากเป็นสิ่งใดที่ลูกชอบ เขาจะสนใจและกระตือรือล้นยิ้มให้เอง

นอกจากนั้นเด็กบางคนมีลักษณะชอบทำอะไรด้านเดียว เช่น นอนตะแคงขวา ดูดมือขวา เอียงคอทางขวา หรือแม้แต่ดูดนมด้านขวา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่เป็นลักษณะความถนัดของลูกที่ก่อตัวมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ทารกวัย 2 เดือนนี้จะเริ่มเชื่อมโยงพฤติกรรมบางอย่างที่พ่อแม่ทำให้และตีความหมายได้บ้างแล้ว เช่น ถ้าวางลูกลงบนเปลในท่าทางพร้อมนอน แต่ลูกยังไม่อยากนอน เขาก็อาจจะแผดเสียงออกมาได้ การส่งเสริมควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ตอบสนองความต้องพื้นฐานของเขาโดยเฉพาะเรื่องกินและเรื่องความเปียกชื้น ที่เป็นต้นตอของความหงุดหงิดจนทำให้ลูกเสียเวลาในการเรียนรู้ได้ พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารกวัย 2 เดือน ได้แก่

  • แยกความแยกต่างของคน เสียง รส และวัตถุได้
  • เชื่อมโยงคนกับการกระทำได้ เช่น แม่กับอาหาร
  • เคลื่อนไหวร่างกายตอบโต้การกระตุ้น

ขอขอบพระคุณบทความดีๆจาก รักลูก

เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save