Thursday, 21 November 2024

พัฒนาการ ทารก 6 เดือน

พัฒนาการ ทารก 6 เดือน ได้รู้จักเจ้าหนูตัวน้อยมา ครึ่งปีแล้ว เขามีความน่ารัก และ สดใส และ มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกๆ วัน จนบางครั้งเราก็เริ่มแปลกใจว่าเขาสามารถหยิบจับของได้แม่นยำขึ้นได้อย่างไรกัน และ ช่วงนี้เองที่คุณพ่อ คุณแม่ อย่าประมาท เพราะเขาอาจจะคล่องแคล่วขึ้นและ เคลื่อนไหวในแบบที่คุณนึกไม่ถึงเล

พัฒนาการ ทารก 6 เดือน

พัฒนาการ ทารก 6 เดือน ทางร่างกายและการส่งเสริม

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเจ้าหนูวัย หก เดือน คือ การนั่งได้นานยิ่งขึ้น โดยมีสิ่งของให้พิงบ้าง หรือบางครั้งไม่มีของพิง กล้ามเนื้อหลัง ก็สามารถพยุงตัวให้นั่งคงที่ได้แล้ว เว้นแต่ว่าเมื่อเอื้อมมือหยิบของ เขาจะเอนเอียงจนต้องใช้มืออีกข้างพยุงตัวบ้าง ที่น่าดีใจไปกว่านั้นคือการเริ่มหัดคืบของเขา โดยเขาจะยกขากระดกเพื่อถีบตัวไปข้างหน้า แต่บางครั้งก็เคลื่อนผิดทิศไปด้านหลังแทน นอกจากนั้นเขาชอบให้ คุณพ่อ คุณแม่ จับตัวพยุงเดินเพื่อจะได้เห็นโลกใบใหม่ในมุมมองที่เปลี่ยนไป หากต้องการอ่านบทความ พัฒนาการ ทารก 5 เดือน สามารถเข้าไปอ่านได้ที่หัวข้อ พัฒนาการ ทารก 5 เดือน

พัฒนาการทางร่างกายของลูกจะทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจลูกมากขึ้นว่า ลูกนั้นมีลักษณะนิสัยชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น เด็กบางคนจะชอบเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่บางคนกลับชอบสนใจของเล่นในมือเป็นเวลานานๆ เป็นต้น ดังนั้น การฝึกพัฒนาการของตนเองจะเป็นลักษณะเฉพาะและความถนัดของแต่ละคน

ฟันซี่แรกเริ่มขึ้นแล้ว เจ้าหนูจะมีอาการเข็ดฟัน และ คันเหงือกบ้าง คุณพ่อ คุณแม่ อาจจะต้องหายางกัดสำหรับเด็ก หรือ แตงกวาชิ้นเล็กๆ ไว้ให้ลูกขบเล่น เพื่อกระตุ้นการขึ้นของฟันได้ดีขึ้นด้วย และสำหรับ คุณแม่ที่ยังให้นมลูกอยู่ เมื่อลูกฟันขึ้นแล้วลูกอาจจะขบกัดหัวนมทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คุณแม่ สามารถใช้ขวดนมแทนโดยใช้ท่าทางการอุ้มเช่นเดียวกับการให้นมแม่ พัฒนาการทางร่างกายของ ทารกวัย 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่

  • หันหน้าเอี้ยวตัวไปมาได้ดี
  • พลิกคว่ำ ได้คล่องแคล่ว อาจพลิกคว่ำ มาเป็นท่าทางกึ่งนั่งได้
  • คืบไปข้างหน้า หรือ ข้างหลัง
  • ทรงตัวได้ดีแต่ต้องมีสิ่งช่วยพยุง เพราะอาจจะหน้าคว่ำหรือหงายท้องได้
  • ถือขวดนมเองได้
  • จับของเล่น และ ถ่ายของจากมือหนึ่ง ไปอีกมือหนึ่งได้
  • เอื้อมมือหยิบของทันทีที่อยากได้
  • ดื่มนมจากถ้วยได้
  • ใช้มือแย่งช้อนเวลาป้อนอาหารเสริมให้ลูก
  • นอนหลับสนิทตลอดคืน เฉลี่ยนอนวันละประมาณ 12 ชั่วโมง

พัฒนาการ ทารก 6 เดือน ทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม

อารมณ์ดีๆ ของลูกมักมาจากการเล่นที่บ้างครั้ง แม้ว่าการเล่นนั้นดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ลูกก็สามารถยิ้มแย้ม และ เอิ๊กอ๊าก จนน้ำลายไหลได้ บางทีเจ้าหนูก็ร้องไห้อยู่แท้ๆ แต่เมื่อเจอสิ่งที่น่าสนใจเขาก็สามารถพลิกกลับมาหัวเราะได้ทันที สำหรับเกมที่สามารถทำให้เจ้าหนูอารมณ์ดีได้ง่ายๆ คือ เกมจ๊ะเอ๋ ปิดหน้าเราด้วยมือ หรือ ผ้า แล้วเล่นจ๊ะเอ๋กับเขา ลูกจะรู้สึกตื่นเต้นและหัวเราะจนเรามองเห็นเหงือกเกือบทั้งหมดเลย

ร่างกายของลูกก็มีเรื่องเกี่ยวพันกับอารมณ์ของเจ้าหนูได้เหมือนกัน เด็กที่อ้วนจะมีผลทำให้เฉื่อยชา อึดอัด เวลาเคลื่อนไหว ทำให้พัฒนาการทางร่างกายพัฒนาไปได้น้อย ความสนุกสนานและการเรียนรู้โลกกว้างก็น้อยตามไปด้วย

พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม

เสียงของ คุณพ่อ คุณแม่ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการฝึกภาษาให้ลูก แม้ว่าลูกจะฟังดนตรีอยู่แต่เมื่อได้ยินเสียงคุณแม่ เขาก็จะหยุด และ เพ่งความสนใจมาที่แม่ทันที และ ตั้งอกตั้งใจฟังสิ่งที่ คุณแม่พูดราวกับรู้เรื่องทั้งหมด และบางครั้งอาจจะตอบด้วยน้ำเสียงอ้อแอ้ กลับด้วย หรือมักจะเรียกคุณด้วยน้ำเสียงที่อ้อนแม้ว่าตนเองจะไม่ได้ต้องการอะไรก็ตาม พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่

  • ส่งเสียงเป็นพยัญชนะได้มากขึ้น
  • ควบคุมเสียงได้ดีขึ้น แต่ว่ายังไม่เป็นภาษา
  • ชอบส่งเสียงคุย และ ส่งเสียงจ้อตอบเสียงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเสียงผู้หญิง
  • ส่งเสียงบอกอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง

พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม

ลูกได้เรียนรู้ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบกลับ จากสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง มีการปักใจในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวด้วยการมองสังเกต อดทนทดลองเล่นไปเรื่อยๆ เผื่อว่าจะมีสิ่งใดแปลกใหม่สะท้อนกลับมา คุณพ่อ คุณแม่ บางคนเริ่มให้ลูกนั่งรถเข็นเดินเล่นในระแวกบ้าน ก็จะทำให้เขาพบเจอ ลุง ป้า น้า อา มากมาย ที่สำคัญเขาจะเรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้ พัฒนาการทางสังคมของทารกวัย 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่

  • ยิ้มให้กับเงาตนเองในกระจก สามารถแยกตัวเองกับกระจกเงาได้
  • พยายามเลียนแบบการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า
  • หันหน้ามามองเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตัวเอง
  • ยิ้ม และ เอื้อมไปจับเด็กแปลกหน้า
  • ร้องเรียกพ่อแม่ เพื่อขอความช่วยเหลือ
  • ชอบเล่นกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อมีเกม

พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม

ลูกจะเข้าใจหน้าที่ของ ของเล่น และ ของใช้ต่างๆ ได้อย่างดี เรียนรู้และเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวันได้อย่างรวดเร็ว ลูกจะรับรู้กิจวัตรประจำวัน และ เรียงลำดับได้อย่างแม่นยำ ส่วนด้านการทำงานของระบบประสาทจะมีความแม่นยำขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ การเคลื่อนไหว รวมทั้งการเรียนรู้ที่เริ่มเลียนแบบกิริยาท่าทางรวมทั้งภาษาที่ได้ยินอยู่เป็นประจำด้วย พัฒนาการทางสมองของทารกวัย 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่

  • รู้ความสัมพันธ์ระหว่างมือ และ ของที่อยู่ในมือ
  • เมื่อถือของอยู่ จะใช้อีกมือหยิบของเล่น และ มองของชิ้นที่ 3
  • ระบบประสาทสัมพันธ์กันมากขึ้น คว้าสิ่งของด้วยความแม่นยำ ไม่มีกระตุก หรือแกว่งไปมา
  • ฮึมฮัมตามเพลง หรือ หยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงเพลง
ทารก 6 เดือน พัฒนาการ

ขอขอบพระคุณข้อมูลทั้งหมดจาก รักลูก

เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณ รวมถึงเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความสนใจของคุณมากที่สุด ถ้าคุณยังใช้งานต่อไปโดยไม่ปฏิเสธคุกกี้ เราจะเก็บคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ของเราได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายการใช้คุกกี้

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save