หลอกให้ลูกกลัว ระวังพัฒนาการถอถอย เป็นสิ่งที่ทุกคนในบ้านต้องรู้ไว้ การหลอกให้เด็ก ๆ กลัว เช่น เดี๋ยวให้ตำรวจจับเลย เดี๋ยวผีมาหลอกนะ เดี๋ยวพาไปหาหมอ ให้หมอฉีดยาเลย หรือ หลอกด้วยคำพูดอื่นๆ ทุก ๆ อย่างที่แกล้งพูดขู่เด็กไป เป็นสิ่งที่จะฝังลงไปในความรู้สึกของเขา เขาจะรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผล และ กลัวในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องกลัว อุปสรรคต่อความเข้มแข็งของเด็ก คือ ความกลัว (FEAR) ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในจิตใจ ว้าวุ่น หวาดกลัว ไม่มั่นใจในตัวเอง และ พาลเป็นผลเสียต่อสุขภาพ จึงต้องพยายามเลี้ยงลูกอย่าให้เป็นคนขี้กลัว กลัวอะไรโดยไม่มีเหตุผล
หลอกให้ลูกกลัว บ่อยๆ ยิ่งส่งผลร้ายกับลูก
ตอนเด็กๆ เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่พูดเสมอเวลาที่เราดื้อไม่ยอมทำตามคำสั่ง เช่น ดื้อดีนักเดี๋ยวให้หมอจับฉีดยาเลย หรือ ระวังผีหลอกนะ จนตอนนี้โตขึ้นมาเราก็ยังใช้วิธีนี้หลอกเด็ก ลูกๆ หลานๆ กันต่อมา
ซึ่งรู้หรือไม่ว่าการหลอกลูก หรือ ขู่ให้เขากลัวนนั้นเป็นวิธีที่ผิด และ ความกลัวก็จะติดตัวเขามาจนโตจนแก้ไม่หาย งั้นเรามาดูวิธีการที่ถูกต้องกันดีกว่าหากเด็กๆ ไม่ยอมทำตามต้องทำอย่างไร
ผลกระทบหาก หลอกให้ลูกกลัว
- ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และ จิตใจอย่างมาก
- ความกลัวจะฝังแน่นในความรู้สึก ส่งผลมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
- ทำให้เสียบุคลิกภาพ เป็นคนขี้ระแวงจนเกินเหตุ
และ ยิ่งไปกว่านั้น หากลูกมีความกลัวอย่างรุนแรง และ ต้องอยู่ในภาวะนี้นาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ เช่น เด็กที่กลัวความมืด หากให้อยู่ในห้องมืดคนเดียว จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับในเวลากลางคืน หัวใจจะเต้นเร็ว ในสมองจะจินตนาการ ไปต่าง ๆ นานา และ หวีดร้องได้เมื่อใบไม้ใบหนึ่งปลิวมาปะทะหน้าต่าง
อย่างไรก็ตาม ความกลัวจะส่งผลดี หากกลัวอย่างมีเหตุผล กลัวในสิ่งที่ควรกลัว เช่น หากกลัวอุบัติเหตุ เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความไม่ประมาท เป็นต้น ความกลัวอย่างมีเหตุผล จะช่วยให้เราแสดงพฤติกรรมที่ดี แล ะเหมาะสมออกมา
ไม่ให้หลอก แล้วต้องทำอย่างไร
ที่เคยหลอกลูกให้กลัวไปแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะมีวิธีช่วยให้เราเลี่ยงการหลอกลูกอย่างไร้เหตุผลมาเป็นใช้เหตุผลมากขึ้น
- ตั้งสติก่อนขู่เด็ก ทุกครั้งก่อนที่จะพลั่งปากหลอกลูก ตั้งสติสักนิด ว่าต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผล หรือ ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวไปหมดทุกเรื่อง
- แก้ไขความเข้าใจผิด หากผู้ใหญ่ในบ้านหลอกลูกให้กลัว คุณพ่อ คุณแม่ จำเป็นมากที่ต้องอธิบายให้ท่านฟังว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ควรหลอกหลาน ที่สำคัญคือ ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่ลูกด้วย เช่น ที่คุณยายบอกว่า ไม่ให้หนูเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เพราะอาจถูกผีจับตัวไป ที่จริงแล้ว ไม่มีผีที่ไหนมาจับตัวลูกไปได้ แต่คุณยายพูดไปอย่างนั้น เป็นเพราะห่วง กลัวว่าลูกจะไปเล่นไกลหูไกลตา และ หลงหายไปมากกว่า เป็นต้น
- พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่กลัวอย่างไร้เหตุผล เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และ เลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ การเป็นแบบอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้ลูกซึมซับรับรู้เรื่องเหตุ และ ผลมากขึ้น และไม่กลัวอะไร ๆ อย่างไร้เหตุผลได้ โดยการให้เหตุผลแก่ลูกว่า เหตุใดเราจึงควรกลัว หรือ ไม่ควรกลัวสิ่งต่าง ๆ เช่น ทำไมเราถึงสมควรกลัวงูมากกว่าผี นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่างูสามารถกัดทำร้ายเราจนถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผีนั้นเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริง หรือ ไม่ และ ถึงแม้ว่าพิสูจน์ได้ว่ามีจริง ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เขามาทำร้ายเรา เป็นต้น
- อธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุและผล อธิบายในสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุ และ ผล เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า รีบนอนได้แล้วเดี๋ยวผีมาหลอก ให้เปลี่ยนเป็น หนูควรรีบนอนได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา ถ้านอนดึก ลูกจะนอนไม่พอ พอเช้าก็ไม่อยากตื่น อารมณ์ไม่แจ่มใส ที่สำคัญจะทำให้ลูกไปโรงเรียนไม่ทันเวลา เป็นต้น
นอกจากเราจะต้องปลูกฝังนิสัยให้ลูกค่อย ๆ เลิกกลัวในสิ่งที่ไร้เหตุผลแล้ว คุณพ่อคุณแม่ และ ทุกคนในบ้านก็ควรจะลาขาดจากพฤติกรรมหลอกลูกให้กลัวไปเลยได้ยิ่งดี
หมดยุค “หลอกเด็ก” อธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่หลอกให้กลัว
การใช้กุศโลบายโดยมีใจความเป็นการหลอกให้เกิดความกลัวเพื่อการบางอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องดี และ ไม่เป็นที่ยอมรับแล้วในปัจจุบัน เพราะเป็นการสอนที่ค่อนข้างมักง่าย และ ไร้เหตุผล เด็กที่ได้รับการบ่มสอนด้วยการหลอกแบบนี้จะไม่รู้ถึงเหตุผลที่แท้จริง แต่ทำไปเพราะความกลัวเท่านั้น
สังคมไทยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจในการปกครองในบ้านมาตั้งแต่นมนาน กล่าวโดยง่าย คือ การข่มให้กลัว และ ทำตามโดยไม่มีเหตุผลรองรับ เด็กบางคนอาจถามกลับบ้างว่า เพราะอะไร, ทำไม ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้ บอกแค่เพียงว่าคนโบราณเขาบอกมา จนเป็นการฝังหัวการสั่งสอนเด็กแบบผิดสืบทอดมาตามชั่วอายุคน
ซึ่งในทางจิตวิทยาการปลูกฝังความกลัวให้กับเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะความกลัวที่ฝังใจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งสำหรับบางคนอาจหายเมื่อโตขึ้น แต่สำหรับบางคนอาจเป็นความกลัวที่ติดตัวไปตลอด เช่น การหลอกว่าอย่าไปเล่นน้ำเดี๋ยวผีพรายดึงขา อาจส่งผลให้เด็กกลัวการลงน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ทั้งที่จริงแล้ว ควรบอกด้วยเหตุผลมากกว่าว่าการไปเล่นน้ำควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้
แม้ว่าเด็กจะยังไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลที่ผู้ใหญ่อธิบาย แต่ก็น่าจะดีกว่าถ้าเราค่อย ๆ สอนเขาไป ให้เขาได้รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงห้ามไม่ให้เขาทำ ให้เขาเข้าใจในหลักการจริง ๆ ดีกว่าหลอกให้เขากลัว
บทความที่แล้วทางอินดี้ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ แก้ปํญหาลูกชอบดูดนิ้ว หากสนใจอ่านบทความสามารถอ่านได้ที่ เรื่อง แก้ปัญหาลูกชอบดูดนิ้ว