บูชาพระขึ้นบ้านใหม่ คนไทยกับความเชื่อเรื่อง “พิธีขึ้นบ้านใหม่” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมายาวนาน ไม่ใช่แค่เรื่องของการบอกกล่าวให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงการมีบ้านใหม่เท่านั้น แต่ยังเชื่อกันว่ายังเป็นการบอกกล่าวให้บรรดาเจ้าที่เจ้าทาง ผีบ้านผีเรือน มาคอยปกปักรักษาให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับทุกๆ คนในครอบครัว บทความนี้จึงอยากนำเสนอเรื่องราวพิธีดังกล่าวให้ทุกคนได้นำไปใช้อย่างถูกต้อง
การนำพระเข้าบ้าน หรือ การทำพิธีเข้าบ้านใหม่ในครั้งแรก ถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มีมายาวนาน ซึ่งจะช่วยเสริมสิริมงคล และ ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่เย็นเป็นสุข
บูชาพระขึ้นบ้านใหม่
ตามธรรมเนียมแล้ว จะให้ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุดในบ้าน เป็นผู้อัญเชิญพระพุทธรูปเข้าบ้านใหม่โดยนำไปวางที่หิ้งพระที่จัดเตรียมไว้ มีผู้อยู่อาศัยทุกคนเดินตาม โดยเจ้าของบ้านควรจัดเตรียมที่ตั้งหิ้งพระ และ อุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น หากเป็นครอบครัวเชื้อสายจีน จะมีการตั้งองค์ตี่จู้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
หลังจากอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นหิ้งแล้ว ขั้นตอนถัดไป คือ การถวายของที่เตรียมมาทั้งผลไม้และอาหารคาวหวาน น้ำดื่ม รวมถึงดอกไม้ พวงมาลัย และ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อธิษฐานขอพรเป็นสิริมงคลให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนมีแต่ความสุขความเจริญ อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นสงบสุข
บูชาพระขึ้นบ้านใหม่ วิธีจัดหิ้งพระในบ้าน
หลักการจัดหิ้งพระในบ้านตามหลักฮวงจุ้ย ควรหันไปทางทิศเหนือ หรือ ทางประตูบ้าน เป็นทิศที่เรียกได้ว่าดีที่สุด และควรเป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน เช่น ห้องโถง หรือ ห้องรับแขก เพราะพื้นที่ตรงนี้เปรียบเหมือนหัวใจสำคัญที่มีผลในด้านสุขภาพ ความมั่งคั่ง และ ความสุข อีกทั้งควรเป็นบริเวณที่โล่ง กว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการตั้งในมุมอับและ ไม่วางหิ้งพระหันหน้าเข้าบ้าน เพราะอาจลดพลังงานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ที่สำคัญควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ และ มีแสงไฟให้หิ้งพระสว่างไสวอยู่เสมอ
ไหว้พระในบ้านอย่างไร
ตามความเชื่อของชาวพุทธนั้น เชื่อว่าการที่มีหิ้งพระไว้ในบ้านที่อยู่อาศัยนั้น จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ และ เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ ของพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ และ เพื่อการจัดวางโต๊ะหมู่บูชา และ ติดตั้งหิ้งพระให้ถูกต้องนั้น ก็มีหลักการที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย ดังนี้
- โต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ในห้องชั้นบนสุดของบ้าน หรือ หากเป็นหิ้งพระก็ควรติดตั้งที่มุมสงบของบ้าน ที่เปิดโล่งและ ไม่อับทึบ และ สามารถติดตั้งไว้ชั้นล่างของบ้านก็ได้เพื่อความสะดวกของผู้สูงวัย
- ไม่ควรตั้งหิ้งไหว้พระในบ้าน ไว้ตรงข้ามกับประตูห้องน้ำ หรือ ห้องครัว และไม่ควรไว้ในห้องนอน เพราะถือว่าเป็นจุดอัปมงคล
- หิ้งพระควรตั้งให้สูงพ้นระดับศีรษะขึ้นไป ในบางบ้านมีพื้นที่จำกัด เช่น คอนโด อพาร์ทเมนท์ ก็อาจจะเลือกวางพระพุทธรูปไว้บนหลังตู้สูงๆ แทนก็ได้
- ไม่ควรตั้งหิ้งพระไว้ใต้บันไดบ้านเด็ดขาด เพราะเปรียบได้กับเป็นการเหยียบย่ำพระพุทธรูป ซึ่งไม่เหมาะสม
- ไม่ควรตั้งหิ้งพระอยู่เหนือขอบประตูบ้าน เพราะการเปิดปิดประตูอาจจะทำให้เกิดแรงกระแทกจนหิ้งพระ หรือพระพุทธรูปร่วงหล่นลงมาได้
ของบูชาพระที่บ้าน
- ธูป 3 ดอก หมายถึง การบูชาพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์
- เทียน 2 เล่ม หมายถึง พระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
- ดอกไม้หรือพวงมาลัย หมายถึง การสักการะพระสงฆ์
- น้ำเปล่า หมายถึง การระลึกถึงน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้า
- ผลไม้ และขนมหวาน (จะถวายหรือไม่ก็ได้)
บทสวดบูชาพระในบ้าน
ก่อนเริ่มสวดมนต์ควรทำจิตใจให้สงบนิ่ง ตั้งสมาธิ พร้อมกล่าวคาถาบูชาพระในบ้าน โดยเริ่มจากการตั้งนะโม 3 จบ ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
คําบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ
สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ
พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน (กราบ)
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม (กราบ)
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)
คำถวายดอกไม้ธูปเทียน
อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ ระตะนัตตะยัสเสวะ
อะภิปูเชมะ อัมหากง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง หิตะสุขาวะหา
โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อิเมหิ สักกาเรหิ สักกัจจัง อะภิปูชะยา
ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชาธูปเทียน
และดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้ แก่พระรัตนตรัย กิริยาที่บูชาแก่พระรัตนตรัยนี้
จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน
จงเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส เทอญ ฯ
บทแผ่เมตตาแก่ตนเอง
“อะหัง สุขิโต โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
“อะหัง นิททุกโข โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
“อะหัง อะเวโร โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
“อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
“อะหัง อะนีโฆ โหมิ”
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ
“อะหัง สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ”
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด
บทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
“สัพเพ สัตตา”
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
“อะเวรา โหนตุ”
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
“อัพพะยาปัชฌา โหนตุ”
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
“อะนีฆา โหนตุ”
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
“สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ”
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ
บทแผ่ส่วนกุศล
“อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดา บิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดา บิดาของข้าพเจ้ามีความสุข
“อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข
“อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข
“อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
“อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
“อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข
“อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ
คําสวดลาของไหว้
ตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำบูชาว่า
เสสัง มังคะลายาจานิ
ลูกขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล เพื่อยังประโยชน์เพื่อความสุขความเจริญแก่ลูกด้วยเถิด